Knowledge

การเตรียมตัวของครู และห้องพยาบาลกับการวางแผนป้องกันเชื้อไวรัสในช่วงเปิดเทอม

การเตรียมตัวของครู และห้องพยาบาลกับการวางแผนป้องกันเชื้อไวรัสในช่วงเปิดเทอม

 4 years ago 4660

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          เมื่อกล่าวถึงเรื่องของการแพร่ระบาดเชื้อโรคและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียนแล้วนั้น บทบาทของครูและห้องพยาบาลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรค รวมทั้งการให้ข้อมูลเรื่องการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเหมาะสมในสภาวะดังกล่าว เพื่อป้องกันการติดต่อหรือแพร่กระจายเชื้อและเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของนักเรียนเอง การเตรียมการของครู บุคลากรภายในโรงเรียนจึงมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการตระหนักรู้เรื่องสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญมากยิ่งขึ้น

“คำแนะนำในการเตรียมตัวเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยด้านสุขภาพ 5 ข้อ”
          1. ผู้บริหาร ครู บุคลากร และนักเรียนมีความเข้าใจ และยึดถือความปลอดภัยในด้านสุขภาพของนักเรียนเป็นหลัก ปลูกฝังพฤติกรรมการป้องกันตนเองที่ถูกต้องในเบื้องต้น โรงเรียนจะต้องมีการให้ความรู้พื้นฐานในการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง เช่น การล้างมือ การรักษาความสะอาด การตรวจสอบ และติดตามการใส่หน้ากากอนามัย face shields อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิก่อนเข้าโรงเรียน ห้องเรียน เป็นต้น รวมทั้งมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ สำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ แอลกอฮอล์เจล สบู่เหลวสำหรับล้างมือ สเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคที่สิ่งของสาธารณะที่ใช้ร่วมกัน เป็นต้น
          2. การจัดเตรียมห้องเรียน และสภาพแวดล้อมพื้นที่บริเวณตึกเรียนให้ปลอดภัย มีการเว้นระยะห่างจัดเตรียมพื้นที่สำหรับตรวจวัดอุณหภูมิ และล้างทำความสะอาดมือ หากพบกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยก็จะต้องมีแนวทางรองรับที่ชัดเจน มีพื้นที่จัดแยกสำหรับกลุ่มเสี่ยงรอกลับบ้าน รวมทั้งการให้ข้อมูลการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมแก่นักเรียนต่อไป เพื่อทำการเฝ้าระวังอาการ โดยโรงเรียนมีนโยบายในการจัดการกลุ่มเสี่ยงที่เป็นขั้นตอนชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ปกครอง และนักเรียนหลังจากกลับมาทำการเรียนการสอนในโรงเรียนตามปกติ
          3. ส่งเสริมบทบาทชุมชนในการมีส่วนร่วมด้านการรักษาสุขภาพกับโรงเรียน นอกจากครู และห้องพยาบาลจะมีบทบาทเป็นอย่างมากในด้านการดูและรักษาสุขภาพของนักเรียนในโรงเรียนแล้วนั้น ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริม และให้ความรู้ความเข้าใจ รณรงค์เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพแก่คนในชุมชนโดยรอบให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อีกทั้งลดโอกาสที่จะเกิดความเข้าใจผิด การเพิกเฉยต่อการดูแลป้องกันตัว หลีกเลี่ยงการดูถูก และแสดงท่าทีไม่เหมาะสมต่อบุคคลที่ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากปัญหาด้านทุนทรัพย์ และการเข้าไม่ถึงอุปกรณ์ป้องกัน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ครู และบุคลากรในโรงเรียนยังมีอิทธิพลต่อการประสานงาน และการให้ความช่วยเหลือคนในชุมชนผ่านการติดต่อหน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือในการสรรหาอุปกรณ์ และปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้แก่คนในชุมชนได้สะดวกยิ่งกว่า
          4. ครู และห้องพยาบาลทำการเก็บข้อมูลนักเรียนและบันทึกผลการติดตามสถานการณ์ในแต่ละวัน เพื่อทำการวิเคราะห์ และวางแนวทางรับมือในลำดับต่อไปได้ รวมทั้งวางแผนในการส่งเสริมความตระหนักรู้ และปลูกฝังพฤติกรรมการดูแลป้องกันตัวเองให้แก่นักเรียนและครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ สามารถให้คำปรึกษา และเสนอแนะเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยให้นักเรียนเกิดความไว้วางใจ และพยายามดูแลตัวเองมากกว่ารู้สึกวิตกกังวลจนเกิดปัญหาผลกระทบทางจิตใจตามมา
          5. การเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพของนักเรียนในแต่ละวันแก่ทุกคนในโรงเรียน ชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างถูกต้องและแม่นยำ เนื่องจากโรงเรียนเองมีการติดตามการขาด ลา มาสายของนักเรียนเป็นประจำอยู่แล้ว การเก็บข้อมูลอุณหภูมิร่างกายของนักเรียน และทำการรวบรวมเป็นรายงานสถานการณ์โดยสรุปย่อมสามารถทำควบคู่กันได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดภายในโรงเรียน และพื้นที่ใกล้เคียงที่มีประสิทธิภาพ หากมีการตรวจพบจำนวนกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อจะทำให้โรงเรียนสามารถวางแผนดำเนินการจัดการได้อย่างทันท่วงที ในทางกลับกัน หากไม่มีจำนวนกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อ ก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และใช้โอกาสดังกล่าวในการรณรงค์สร้างความร่วมมือในการป้องกันตนเองที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอต่อไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

          ดังนั้น บทบาทของครู ผู้บริหาร และห้องพยาบาลจึงมีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมตัวรับเปิดเทอมท่ามกลางสภาวะการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การวางแผนและแนวทาง รวมทั้งกระบวนการตั้งรับ ติดตามและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในกลุ่มนักเรียน และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ มีความรัดกุม เชื่อถือได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดภายหลังจากการเปิดโรงเรียน และสามารถดำเนินการจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสมกับบริบทสถานการณ์ ซึ่งโรงเรียนจะต้องอาศัยความร่วมมือ และประสานงานจากบุคลากรในโรงเรียน ชุมชนโดยรอบ รวมทั้งผู้ปกครองของนักเรียนให้ช่วยกันปฏิบัติตามแนวทาง และระเบียบในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคทั้งต่อตนเอง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยง เพิ่มความระมัดระวังในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น

ที่มา:
05/19/20. (n.d.). How School Nurses Are Critical in Back-to-School Planning Amid COVID-19. Retrieved June 22, 2020, from https://spaces4learning.com/Articles/2020/05/19/School-Nurses-and-COVID19-Planning.aspx?admgarea=acoustics&Page=2


TAG: #โควิด19 #สาธารณสุข #สุขภาพจิตและกาย #โรคระบาดใหญ่ #COVID19 #สุขภาวะใจ #สุขภาวะกาย