Knowledge
เตรียมความพร้อมรับมือเด็กเรียนไม่ทัน เมื่อโรงเรียนเปิดภาคเรียน
4 years ago 5125แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
1 กรกฏาคมที่ผ่านมาเป็นวันเปิดภาคเรียนที่ไม่เหมือนกับปีการศึกษาก่อนๆ ในประวัติศาสตร์การศึกษาไทย ตลอดช่วงปิดภาคเรียน นอกจากครูจะต้องเตรียมความพร้อมกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่ครูทั่วโลกทิ้งไม่ได้ในช่วงที่โรงเรียนปิดอยู่คือ เราจะเตรียมความพร้อมรับมือกับนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนหนังสือที่บ้าน หรือนักเรียนที่เรียนไม่ทันเพื่อนๆ ได้อย่างไร
นักวิจัยและนักการศึกษาในอเมริกาเสนอทางเลือกไว้ 2 ข้อ ดังนี้
1. กรณีที่โรงเรียนยังต้องปิดยาว ในประเทศตะวันตกควรมีการจัดภาคเรียนฤดูร้อนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนตามเพื่อนได้ทัน Douglas Harris จาก Brookings Institution เสนอให้จัดเตรียมเงินทุนสำหรับสนับสนุนโรงเรียนภาคฤดูร้อนสำหรับนักเรียนกลุ่มนี้ด้วย เนื่องจากต้องพิจารณาถึงผลกระทบต่อนักเรียนที่ต้องรับมือกับความเหลื่อมล้ำทางด้านเทคโนโลยี หรือนักเรียนที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล
2. กรณีเปิดโรงเรียนได้ ให้จัดการเรียนชดเชยสำหรับการเรียนการสอนที่ขาดหายไป มีงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า นักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยจะสูญเสียพื้นฐานทางวิชาการในฤดูร้อนมากกว่านักเรียนกลุ่มอื่นๆ และหากไม่มีการช่วยเหลือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็จะยิ่งมีมากขึ้น เมื่อเทียบจากจำนวนคาบเรียนที่นักเรียนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าร่วมได้
กลยุทธ์สำคัญ สร้างโอกาสให้นักเรียนทุกคน
นอกจากนี้ยังมีกลยุทธ์สำคัญที่ครูสามารถนำไปใช้ เพื่อสร้างโอกาส และสนับสนุนการเรียนรู้แก่นักเรียนทุกคน
1. จัดกลุ่มติวตัวต่อตัวให้นักเรียนที่เรียนไม่ทัน
Alanna Bjorklund-Young ผู้อำนวยการด้านงานวิจัยที่ John Hopkins Institute for Education Policy ได้เสนออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่โรงเรียนอาจนำมาใช้ได้คือ การจับคู่นักเรียนกับครูคนเดิมในช่วงระยะเวลาหนึ่งของปีการศึกษาถัดไป เพราะครูคนปัจจุบันของนักเรียนจะสามารถทบทวนบทเรียน และเนื้อหาสาระที่นักเรียนยังเรียนไม่ครบ หรือมีปัญหาในการเรียนรู้ได้ดีกว่าครูคนใหม่ ในขณะที่ อีกงานวิจัยหนึ่งก็เสนอให้ใช้การติวแบบตัวต่อตัวหรือแบบกลุ่มย่อย ซึ่งอาจจัดก่อน ระหว่าง หรือหลังเลิกเรียนก็ได้ แต่วิธีนี้มีข้อเสียตรงที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ใช้เฉพาะกับนักเรียนที่มีความจำเป็น โดยให้นักเรียนเหล่านี้สามารถติวอย่างเข้มข้นหลังเลิกเรียนได้ เพราะจะช่วยส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ ให้ทันเพื่อน และยังเป็นการสร้างสมดุลให้กับการเรียนที่จะอาจยากขึ้นด้วย
2. นักเรียนยิ่งเก่ง เมื่อเจอบทเรียนยาก
มีหลักฐานระบุว่า การที่ครูพยายามเลี่ยงให้บทเรียนยากๆ เพราะไม่อยากให้นักเรียนรู้สึกว่าบทเรียนยากเกินไป อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะนักเรียนที่เจออุปสรรคมักจะทำผลงานได้ดีขึ้น หากพวกเขาสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่มีความท้าทายมากๆ ได้ สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนรู้ ครูควรให้พวกเขาเจอกับโจทย์ที่ท้าทายขึ้น เช่น คิดวิเคราะห์หนังสือเล่มเดียวกับที่เพื่อนๆ กำลังอ่าน แล้วแลกเปลี่ยนกันว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง โดยครูควรใช้เวลาคิดหาวิธีนำเสนอเนื้อหาที่มีความท้าทายนี้ให้มากกว่าการเสียเวลาไปกับการเสาะหาสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ ที่อาจส่งผลต่อคุณภาพของการเรียนการสอนในภาพรวม
สำหรับครูประถมศึกษาก็ต้องคอยปรับคำถามให้เข้าใจง่ายขึ้น หรือจับคู่นักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนรู้กับเพื่อนร่วมชั้นที่มีทักษะการอ่านที่ดีกว่า สิ่งที่ท้าทายครูทุกคนคือ การดึงนักเรียนที่กำลังพบเจอกับปัญหาทางด้านวิชาการต่างๆ ขึ้นมาให้อยู่ในระดับเดียวกันกับเพื่อนๆ แทนที่จะสอนหนังสือให้ง่ายขึ้นเพื่อรองรับนักเรียนกลุ่มนี้
ในประเทศไทยนั้น สถานการณ์โรคระบาดมาถึงในช่วงปิดภาคเรียน จึงไม่กระทบต่อการจัดการเรียนรู้มากเท่าประเทศอื่น แต่เมื่อเปิดภาคเรียนแล้ว และหากเกิดการระบาดในระลอก 2 เราก็ยังต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์ไว้อยู่เสมอ ครูไทยอาจต้องเผชิญกับภาระงานที่หนักกว่าทุกๆ ปีในการช่วยเหลือนักเรียนที่เข้าไม่ถึงห้องเรียนออนไลน์ หรือนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม EDUCA พร้อมเป็นกำลังใจ และร่วมเรียนรู้ ช่วยครูพัฒนาการสอน เพื่อไม่ให้มีนักเรียนคนไหนที่ต้องทุกทิ้งไว้กลางทาง
อ้างอิง
Harris, B. (2020, April 3). Experts say summer school should be offered to help students catch up. Retrieved April 24, 2020, from https://hechingerreport.org/planning-ahead-to-catch-up-students-when-school-reopens-after-coronavirus/