Knowledge

ควรทำ ไม่ควรทำ : สอนออนไลน์ประถม ฯ อย่างไรให้ปัง

ควรทำ ไม่ควรทำ : สอนออนไลน์ประถม ฯ อย่างไรให้ปัง

 2 years ago 2480

          เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ทำให้คุณครูยังคงต้องสอนในรูปแบบออนไลน์ แต่ถึงแม้คุณครูจะเริ่มสอนออนไลน์มาเป็นระยะเวลาราว 2-3 ปี แล้ว แต่ประสิทธิภาพในการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียนในรูปแบบยังกล่าวนี้ยังถือว่าไม่เป็นที่น่าพึงพอใจเท่าที่ควร โดยเฉพาะการสอนในระดับประถมศึกษา ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสภาพปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความพร้อมของเครื่องมือที่ใช้เรียน ความคล่องแคล่วในการใช้อุปกรณ์ Gadget ความกระตือรือร้น ความตั้งใจในการเรียน รวมถึงปัญหาด้านระยะเวลาในการสอน สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเรียนรู้ ตลอดจนระดับและรูปแบบของการรับรู้ ในวันนี้ EDUCA ขอเชิญคุณครูทุกท่านร่วมหาคำตอบแนวทางการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบออนไลน์ระดับชั้นประถมศึกษา ภายใต้เสวนาหัวข้อ “ควรทำ ไม่ควรทำ ว่าด้วยการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ในระดับชั้นประถมศึกษา” โดยวิทยากร อ.ดร.สุนันทา ขลิบทอง และ อ.กชกร เกียรติศรศรี

          สภาพปัญหาการเรียนการสอนออนไลน์ที่กล่าวมาข้างต้น ต่างก็มีส่วนส่งผลต่อการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนขาดความสนใจ จนส่งผลต่อผลการเรียนรู้ได้ อย่างไรก็ตาม ครูมีหน้าที่เตรียมพร้อมรับมือปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งมีการวางแผนการสอนที่ดีและดึงดูดความสนใจของนักเรียน ซึ่งสามารถกระทำได้ง่าย ๆ ด้วยหลักคิด “เติมแบตให้เกิน อย่าเมิน IT เนื้อหาต้องดี เทคนิคต้องมา” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
          เติมแบตให้เกิน หมายถึง เตรียมตัวสร้างพลังงานให้เกินกว่าปกติ เพราะปกติการเรียนการสอนออนไลน์ ถ้าครูส่งพลังงานให้เด็กไปเต็ม 100% แต่นักเรียนอาจจะรับรู้พลังงานนั้นได้น้อยลดลงเช่นกัน ดังนั้นคุณครูควรจะสามารถ “เล่นใหญ่” ด้วยการแต่งตัวหรือแต่งหน้าให้น่าสนใจ หรืออยู่รอบ ๆ ข้างกับคุณครูท่านอื่นที่มีพลังงานในการสอนเยอะ ๆ หรือใช้วิธีการอื่น ๆ ตามความถนัด
          อย่าเมิน IT หมายถึง บางครั้งอุปกรณ์เทคโนโลยีก็ไม่อาจตอบสนองเราได้เท่าทันใจทุกเวลา ฉะนั้นครูจึงควรตรวจสอบอุปกรณ์ที่ใช้สอนก่อนเสมอ และควรเปิดใจให้กว้าง เพราะบางครั้งความรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาจมาจากคำแนะนำของนักเรียนก็ได้
          เนื้อหาต้องดี หมายถึง การเตรียมเนื้อหาการสอนให้กระชับ มีลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน รวมทั้งขณะสอนควรสื่อสารให้ทั่วถึง สอนให้สนุก และเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตประจำวัน
          เทคนิคต้องมา หมายถึง ครูควรสอนให้สนุก ตลก และท้าทาย หากคุณครูไม่ใช่คนที่มีอารมณ์ขัน ยังสามารถใช้แอปพลิเคชันประกอบการสอนได้ เช่น แอปเสียงเอฟเฟกต์ เว็บไซต์เล่นเกม Wordwall.net หรือตัวช่วยสร้างใบงาน Liveworksheet.com เป็นต้น ทั้งนี้ยังต้องเน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน เช่น สื่อสารด้วยการเปิดกล้อง หรือ พิมพ์คอมเมนต์ง่าย ๆ โต้ตอบ

          สำหรับเทคนิคการสอนออนไลน์ที่ควรทำ อ.กชกร เกียรติศรศรี ได้แนะนำว่า ก่อนอื่นครูควรคำนึงก่อนเสมอว่า “ครูไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมหรือสิ่งเร้ารอบตัวเด็กได้” โดยเฉพาะสิ่งเร้าต่าง ๆ ที่ดึงดูดความสนใจไป ครูจึงต้องควรพยายามทุกวิถีทางเพื่อ “เอาชนะ” และ “ดึงดูดความสนใจ” เด็กเป็นสำคัญ
โดยสามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มชั้นเรียนด้วยการ
          • “พูดเชิงบวก” หรือไม่บ่น หากคุณครูจะติดตามงาน ควรใช้คำพูดเพื่อสร้างวินัยเชิงบวก ไม่ควรเคร่งเครียดเกิน 1 นาทีเพื่อรักษาบรรยากาศการเรียน
          • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้วยการใช้คำพูดสุภาพ เพราะต้องพึงระมัดระวังว่านักเรียนอาจจะเรียนร่วมกับบุคคลอื่นในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการรักษาน้ำใจเด็ก ทำให้เด็กรักและสนใจ
          • มีลีลาการสอนที่ “เร้าใจเหมือนแม่ค้า Online ” ซึ่งคือการไม่พูดด้วยน้ำเสียงที่ราบเรียบตลอดเวลา
          • สอนด้วยบทสนทนาที่เอื้อต่อการให้เกิดการโต้ตอบ ไม่ว่าจะด้วยการพิมพ์ เปิดกล้อง หรือเปิดไมค์ ไม่ใช่แค่สอนและพูดคนเดียว
          • สร้างใบกิจกรรมที่ให้นักเรียนสามารถทำให้เสร็จไปพร้อม ๆ กับการสอนของครู ไม่ใช่สั่งการบ้านตลอด เพื่อลดความเครียด และภาระผู้ปกครอง
          • จัดสอนเนื้อหาที่น่าสนใจ และดึงดูดให้นักเรียนรู้สึกอยาก “ติดตามตอนต่อไป” ไม่ใช่สอนแต่สิ่งที่นักเรียนรู้อยู่ แล้วสอนอีกซ้ำ ๆ
          • ควรจดจำและเอ่ยชื่อนักเรียนเสมอ เพื่อสร้างแรงจูงใจ ทำให้นักเรียนรู้สึกอบอุ่น รู้สึกมีตัวตน
          • ควรให้โอกาสนักเรียนเมื่อนักเรียนเกิดปัญหา เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตหลุดไป ครูไม่ควรตัดคะแนนไปโดยทันที

          นอกจากนี้แล้ว อ.ดร.สุนันทา ขลิบทอง ยังได้เสริมว่า ในการสอนออนไลน์ระดับเด็กประถมศึกษา คุณครูควรสื่อสารกับผู้ปกครองให้ชัดเจนในกฎกติกาที่ครูสร้างขึ้น เช่น ระยะเวลาในการเข้าเรียน หรือหลักมารยาทในการเปิดไมค์ หรือเปิดกล้อง เป็นต้น สำหรับการเตรียมเนื้อหาการเรียนรู้นั้นคุณครูควรเข้าใจธรรมชาติของระยะเวลาที่เด็กจะมีสมาธิได้ดี เมื่อเข้าใจข้อจำกัดเรื่องช่วงเวลาของความสนใจก็จะสามารถออกแบบลำดับเนื้อหาที่สอดคล้องกันได้ ตลอดจนออกแบบสื่อการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาได้

          ทั้งนี้ในขณะสอนควรใช้คำถามที่กระตุ้นความสนใจ รู้จักสังเกตท่าทางและการมีส่วนร่วมของนักเรียน และเมื่อสิ้นสุดการสอนแล้ว คุณครูควรประเมินความรู้ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่เน้นไปที่การบ้าน และที่สำคัญคือการเสริมแรงนักเรียนทางบวก ด้วยการกล่าวชื่นชม ให้รางวัล หรือให้ดาว เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนของนักเรียนในครั้งต่อ ๆ ไป

ที่มา:
เสวนา หัวข้อ “ควรทำ ไม่ควรทำ ว่าด้วยการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ในระดับชั้นประถมศึกษา” โดยวิทยากร อ.ดร.สุนันทา ขลิบทอง จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ อ.กชกร เกียรติศรศรี ครูจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย


TAG: #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #อพวช #NSM #องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #การจัดการชั้นเรียน #SEL