Knowledge
สร้าง Self awareness แก่นักเรียนของเรา
3 years ago 20015เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร
สังคมที่เราอยู่นั้นเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย ต่างคนต่างคิดว่าตัวเองนั้นรู้จักตัวเองดี แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถรู้จักตัวเองได้อย่างถ่องแท้ พร้อมตอบคำถามของตัวเองได้ว่า เราคือใคร เราต้องการอะไร เราชอบอะไร เรามาทำรู้จักกับ ความตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) ว่าเรานั้นรู้จักตัวเองดีแค่ไหน
Self- Awareness คือ อะไร?
ความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ ในเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิด อารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ สิ่งที่เราให้คุณค่า รวมไปถึงการตระหนักถึงทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่าสิ่งนั้นมีผลต่อตัวเราอย่างไร โดย self-awareness แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท
1. การตระหนักรู้ภายใน (internal self-awareness) คือ การรู้จักตัวเองผ่านการตั้งคำถามกับตัวเอง เป็นการตระหนักรู้ที่เกิดจากการมองตัวเราเองเป็นหลักว่าเรานั้นมีตัวตนอย่างไร มีความคิดอย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร ตลอดจนเราเห็นคุณค่ากับสิ่งใด
2. การตระหนักรู้ภายนอก (external self-awareness) คือ การรู้จักตัวเองผ่านมุมมองของผู้อื่น เช่น เพื่อนสนิทมองเราเป็นคนอย่างไร พ่อแม่ผู้ปกครองเห็นเราเป็นอย่างไร คุณครูเห็นเราเป็นอย่างไร โดยคุณครูนั้นสามารถอธิบายเกี่ยวกับนักเรียนได้ผ่านการเขียนสมุดพกโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เห็นพฤติกรรมตัวเองผ่านมุมมองของคนรอบข้าง เพื่อให้นักเรียนรับรู้ในข้อดี ข้อเสียของตัวเอง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยให้นักเรียนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นข้อเสียจะช่วยให้สามารถปรับตัวกับผู้อื่นในสังคมได้เป็นอย่างดี
Self-Awareness สำคัญอย่างไร?
การตระหนักรู้ในตนเองสามารถทำให้เรารู้ตัวในการใช้ชีวิตที่รู้เท่าทันในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง การรู้ในเรื่องของความคิดความอ่านของตัวเอง เมื่อเรารู้เท่าทันตัวเองเราจะสามารถเลือกกระทำสิ่งต่าง ๆ ให้มีผลลัพธ์ที่ดีรวมไปถึงการใช้ชีวิตกับคนในสังคมที่ทำให้เราปฏิบัติตนและควบคุมพฤติกรรมตัวเราให้ดีได้เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เปรียบเทียบคนมีความตระหนักรู้ในตนเอง กับคนขาดทักษะเรื่องนี้ เราจะสามารถเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในเรื่องของการจัดการสภาวะทางอารมณ์ โดยเฉพาะคนขาดความตระหนักรู้ในตนเองนั้นไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ จนเกิดผลโดยตรงกับพฤติกรรมที่แสดงออกมา
มาสร้าง self-awareness ให้นักเรียนของเรากันเถอะ ครูสามารถจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเรื่องดังกล่าวโดยมีตัวอย่างดังนี้
1) ให้นักเรียนตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราชอบสิ่งใด สนใจในสิ่งใด มีความสนใจในเรื่องใด บุคลิกของเราเป็นอย่างไร
2) ให้นักเรียนจดบันทึกความสุขของตัวเองในแต่ละวัน ให้จดเนื้อหาสำคัญในแต่ละวันว่าวันนี้เรามีความสุขกับสิ่งใด อะไรที่ส่งผลทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นมีความสุขกับงาน มีความสุขกับการเรียน
3) ฝึกนักเรียนปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ๆ ในโรงเรียนวันนี้เราได้พูดคุยกับเพื่อนที่รู้จักมากขึ้นหรือไม่ วันนี้ได้พูดคุยกับคุณครูเรื่องอะไร คุณครูอาจจะมีส่วนในการจัดกลุ่มพูดคุยในคาบ Homeroom ในตอนเช้าหรือการจัดเวรทำความสะอาดเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกฝนการมีปฏิสัมพันธ์เพื่อสร้าง self-awareness ผ่านการพูดคุยกับผู้อื่น
4) ฝึกให้นักเรียนสะท้อนตัวเองผ่านการเรียนรู้จากกิจกรรมต่าง ๆ วันนี้ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง อยากได้อะไรเพิ่มเติม เป็นต้น
5) ฝึกนักเรียนทำสมาธิ เมื่อมีเวลาระหว่างพักคุณครูสามารถให้นักเรียนฝึกสมาธิก่อนเริ่มกิจกรรมสักเล็กน้อยเพื่อให้นักเรียนได้ทบทวนตัวเองก่อนเริ่มทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียนได้มีสมาธิในการจดจ่อทำให้เกิดความตระหนักรู้ในตนเองได้มากขึ้น
การอยู่ในสังคมนั้น การรู้จักตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะมีส่วนช่วยในการควบคุมพฤติกรรมการแสดงออกเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้คนที่หลากหลาย นอกจากนี้การตระหนักรู้ในตัวเองยังเป็นจุดเริ่มต้นและสิ่งสำคัญในการเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์ของนักเรียนในการทำงานและการพัฒนาตัวเองในอนาคตอีกด้วย
แหล่งอ้างอิง
Starfish Academy. (2564). ‘Self-awareness’ พื้นฐานสำคัญก่อนเข้าสังคม. 24 มิถุนายน 2564,จาก https://bit.ly/3k453Qc
Urbinner. (2562). Self-Awareness คืออะไร? สำคัญกับชีวิตเราอย่างไร? . 24 มิถุนายน 2564,จาก https://www.urbinner.com/post/self-awareness?fbclid=IwAR3CAdOJS3U5NU4FeJk1AR2lcSkhtUKaSu7J3Mdke_vTF2bWM7gqGldAK5I