Knowledge

ระวัง! การบูลลี่ (Bully) ที่ครูไม่รู้ตัว

ระวัง! การบูลลี่ (Bully) ที่ครูไม่รู้ตัว

 2 years ago 4771

เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี

          เมื่อเอ่ยถึงความหลากหลายในความเป็นปัจเจกบุคคล ครูหลายคนอาจเคยอ่านและได้ยินเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวกันมานาน หรือครูบางคนก็เคยสอนนักเรียนให้เข้าใจถึงความแตกต่างของเพื่อนในห้อง แต่บางครั้งเราในฐานะครูกลับปฏิบัติต่อความแตกต่างของเด็กนักเรียนไม่ได้เสียเอง และหลายครั้งสิ่งนั้นก็กลายเป็นการบูลลี่ (Bully) เด็กนักเรียนที่ครูไม่รู้ตัว

          ครูหลายคนมองว่าการบูลลี่เป็นเรื่องปกติในกลุ่มนักเรียน จนเผลอมองข้ามไปว่าการบูลลี่มีอิทธิพลต่อจิตใจของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ (เหยื่อ) ซึ่งอาจถูกกระทำผ่านการใช้วัจนภาษาและอวัจนภาษาก็ได้ การบูลลี่ผ่านวัจนภาษา เช่น การพูดถึงปมด้อยของบุคคลอื่น การพูดล้อเลียนให้บุคคลอื่นเสียใจหรืออับอาย หรือการพูดเปรียบเทียบที่ล้วนทำร้ายจิตใจของผู้ที่ถูกพาดพิง แม้แต่การจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน บางครั้งครูก็เผลอบูลลี่นักเรียนโดยการกล่าวเปรียบเทียบ การพูดเย้าแหย่ แม้เจตนาจะให้เกิดสีสันและความตลกขบขันในห้องเรียน แต่ครูอาจไม่เคยทราบเลยว่า คำพูดเหล่านั้นทำร้ายจิตใจของนักเรียนบางคนมากขนาดไหน เช่น “ทุกวันนี้คงไม่มีใครไม่มีมือถือหรอกใช่ไหม เพราะถ้าใครไม่มีมือถือก็เหมือนคนที่อยู่หลังเขา จะตามข่าวสารบ้านเมืองทันได้อย่างไร” หรือ “เพื่อนของเราที่เป็นตัวแทนนักเรียน ทั้งสวย ทั้งเก่ง ส่วนพวกเราที่ไม่ได้รับเลือกก็ไม่เป็นไรนะ แค่ตั้งใจเรียนในห้องก็ดีแล้ว”

          คำพูดเหล่านี้ หากมองผิวเผินก็คงเป็นเพียงคำพูดธรรมดา ครูอาจไม่ได้ส่อเจตนาร้ายในคำพูดเลยด้วยซ้ำ แต่ถ้าวิเคราะห์กันให้ดี คำพูดธรรมดาเหล่านี้อาจไปสะกิดใจ หรือมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนบางคนก็ได้ ดังนั้น ก่อนครูจะพูดอะไรต้องคิดให้รอบคอบก่อนว่า หากมีคนพูดกับเราแบบนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร หากเรารู้สึกไม่ดี เด็กนักเรียนก็อาจจะรู้สึกเช่นเดียวกับเราก็ได้

          ส่วนการบูลลี่ผ่านอวัจนภาษา ยกตัวอย่างเช่น การแอบถ่ายภาพหลุด การนำภาพมาล้อเลียน หรือการใช้อีโมจิ (emoji) ในสถานการณ์การเรียนออนไลน์ ครูอาจจำเป็นต้องบันทึกภาพนักเรียนเพื่อเป็นหลักฐานการเข้าเรียน แต่ภาพถ่ายบุคคลที่อยู่ในสภาวะไม่พร้อม เช่น หลับตา อ้าปาก หาว ยิ้มเห็นฟันเหยิน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นเครื่องมือในการบูลลี่ได้ หากมีการเผยแพร่ในโซเชียลมิเดีย คงไม่มีใครอยากตกเป็นเหยื่อของการบูลลี่ที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่รู้ตัวหรือเจตนาจริงของผู้กระทำ ดังนั้น การเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าอกเข้าใจ (empathy) ความรู้สึกของผู้อื่นให้มากขึ้น จึงเป็นหนึ่งในทักษะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม (SEL) ที่ครูต้องให้ความสำคัญ และในการจัดการเรียนการสอน นอกจากครูจะต้องเป็นผู้พูดที่ดีแล้ว ครูยังต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับฟังสิ่งที่เด็กพูดผ่านวัจนภาษา และรับฟังจากสิ่งที่เด็กไม่ได้พูด แต่แสดงออกด้วยอวัจนภาษาต่าง ๆ

          นอกจากนี้ การสอนให้นักเรียนตระหนักรู้ในตัวเอง (self-awareness) เพื่อให้พวกเขาเห็นคุณค่าในตนเอง การเป็นตัวของตัวเอง มีความมั่นใจ รู้เท่าทันอารมณ์ ความประพฤติ การแสดงออกของตนเองและควบคุมตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นภูมิคุ้มกันในตัวแก่เด็กนักเรียน ซึ่งอาจช่วยลดทอนความรุนแรงจากการถูกบลูลี่ได้ เพราะในความเป็นจริง คนเรามีโอกาสเผชิญหน้ากับการถูกบูลลี่ได้ในทุกเมื่อ การแก้ไขที่ผู้กระทำจึงไม่ใช่ทางออกเพียงทางเดียว แต่อาจเป็นผู้ถูกกระทำหรือเหยื่อเองที่ต้องฝึกควบคุมตนเองเพื่อเอาชนะความรู้สึกด้านลบเหล่านั้น และต้องหยุดตอบโต้ทางการกระทำ หยุดการนำสิ่งไม่ดีกลับมาคิดและทำร้ายจิตใจตัวเอง เพียงเท่านี้ เราก็จะมีภูมิคุ้มกันในใจที่เป็นดั่งเกราะพิชิตการบูลลี่ในสังคมได้

แหล่งอ้างอิง
กานต์ธีรา ภูริวิกรัย. มองปัญหาการ ‘บูลลี่’ แบบไทยๆ กับ ธานี ชัยวัฒน์. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.the101.world/thanee-chaiwat-interview/ (สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564)

Nitayaporn, thongpet, kanchana, และ Maneewan. หยุด Cyberbullying กลั่นแกล้ง โจมตีผ่านโซเชียล คิดต่างได้ แต่ควรเคารพในความต่าง. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=30362 (สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2564)

SD Perspectives. แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หยุดCyberbullyด้วยDQ. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.sdperspectives.com/next-gen/7846-19-06-20/ (สืบค้นเมื่อ 9 มิถุนายน 2564)


TAG: #SEL #SocialEmotionalLearning #Bullying #การล้อแกล้งรังแก #Bully #ตระหนักรู้ในตัวเอง #Self-awareness #เข้าอกเข้าใจ #Empathy #บูลลี่ #วิธีแก้ปัญหาเรื่องบูลลี่ #เอาใจเขามาใส่ใจเรา #Bullyลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน #Cyberbully