Knowledge

ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในยุคโควิด ด้วยหลักคิดทักษะทางอารมณ์และสังคม :  มุมมองของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์

ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีในยุคโควิด ด้วยหลักคิดทักษะทางอารมณ์และสังคม : มุมมองของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศนิวซีแลนด์

 2 years ago 3598

          สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID –19 ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาทั้งการจัดการเรียนการสอน การเรียนรู้ การวัดและประเมินผล นอกจากนี้ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ประชาชนจากทั่วทุกประเทศมีมีรายได้น้อยลง จนส่งผลคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงด้วย อีกทั้งผู้เรียนจากหลากหลายครอบครัวต่างก็ประสบสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ดีนัก ไม่ว่าจะเป็นความไม่สบายทางกาย อาทิ โภชนาการ หรือความเครียดนานับประการที่เป็นผลมาจากปัญหาดังกล่าว ดังนั้นเป้าหมายของการพัฒนามนุษย์ในภาพกว้าง คือการมุ่งสร้าง ความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing - ness) นอกจากจะสัมพันธ์โดยตรงกับเศรษฐกิจแล้ว ยังสัมพันธ์กันกับความสามารถและประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของผู้เรียน กล่าวคือ ความเป็นอยู่ที่ดีของแต่ละคนสามารถเกิดขึ้นได้จากการมีความรู้สึกทางจิตใจที่ดี และความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันที่ดี ซึ่งคุณครู เพื่อน โรงเรียน ผู้ปกครอง และชุมชนต่างก็มีส่วนประกอบสร้างและเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดว่าผู้เรียนแต่ละคนจะมีความสุข มีความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกายภาพ การใช้ชีวิต และสุขภาพจิตที่ดีหรือไม่

          ด้วยสาเหตุดังกล่าวจึงทำให้ระบบการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ใช่เน้นที่การสอนในโลกออนไลน์โดยไม่ได้สนใจความรู้สึก สภาพความนึกคิด หรือการใช้ชีวิตของผู้เรียนเลยและมากกว่านั้นแล้ว เมื่อโลกในอนาคตภายหลังสิ้นโรคโควิด 19 เริ่มขึ้น การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีก็ยังสำคัญอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเกิดคำถามสำคัญที่วันนี้ EDUCA ขอเชิญทุกท่านร่วมพิจารณาฉุกคิด และหาคำตอบ ไม่ว่าจะเป็น จะทำอย่างไรให้ระบบการศึกษาสามารถสอดผสานความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing-ness) ให้แก่ผู้เรียนผ่านกระบวนการจัดการเรียนรู้ในโลกดิจิทัลได้ และเราจะมีวิธีการประเมินว่าผู้คนมีลักษณะของการเป็นอยู่ที่ดีได้นั้นอย่างไรบ้าง

          ศาสตราจารย์ Stephen Dobson ได้อธิบายถึงแก่นสำคัญของการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี คือ การสร้างให้ผู้เรียนมี ทักษะในการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม อันประกอบไปด้วย

  • การรู้จักตนเอง (Self - awareness) คือ การรู้เท่าทันสภาวะอารมณ์ของตนเองต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี และสามารถประเมินได้ว่าสิ่งใดคือจุดแข็งของตนเอง และสิ่งใดคือข้อจำกัดทางอารมณ์ของตนเอง
  • การจัดการตนเอง (Self - management) คือ ความสามารถในด้านการควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ตลอดจนพฤติกรรมของตนเองเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ใด ๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้น เพราะการไม่สามารถควบคุมตนเองได้ก็สามารถทำให้เราล้มเหลวในสิ่งที่ต้องการในทุก ๆ เรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องการเรียน
  • การรู้จักสังคม (Social - awareness) คือ การที่ผู้เรียนในฐานะมนุษย์คนหนึ่งสามารถรู้สึกและแสดงออกถึงความเข้าใจและเห็นใจต่อผู้อื่นในสังคม
  • การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible decision - making skills) คือ การสร้างหลักการทางจริยธรรม หรือสร้างตัวเลือกในการตัดสินใจด้วยดุลยพินิจตนเอง ทั้งในเรื่องส่วนบุคคลและปรากฏการณ์ทางสังคม โดยคำนึงถึงผลที่ตามมา และมีความรับผิดชอบ
  • ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Relationship Skills) คือการรู้จัก ปรับตัว และพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นรอบ ๆ ตัว รวมถึงมีความสามารถในการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น มีความสามัคคี และสามารถรับมือกับความขัดแย้งได้อย่างฉลาด

          ครูสามารถนำทักษะทางสังคมข้างต้นนี้ไปใช้สอนได้ด้วยการเริ่มจากตัวเองที่ให้ความสำคัญกับการเป็นอยู่ของผู้เรียน โดยเริ่มตั้งแต่การจดจำชื่อของนักเรียนให้ได้ หมั่นถามความรู้สึกนึกคิดของผู้เรียนเสมอ นอกจากนั้นยังสามารถใช้การตั้งคำถาม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิด พูดแสดงความรู้สึก เหตุผล วิเคราะห์คำตอบ รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น และรู้เท่าทันความคิดความรู้สึกตัวเองในทุก ๆ กิจกรรมที่ได้เรียนรู้

          นอกจากนี้แล้วการทดสอบว่าผู้เรียนมี “ความเป็นอยู่ที่ดี” หรือไม่นั้น สามารถวัดและประเมินผลได้จากทั้งสภาพแวดล้อมภายนอกและการแสดงพฤติกรรมที่ครูสามารถสังเกตได้ เช่น ปริมาณการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน (bullying) ที่ลดลง รวมถึงผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีความสุข พอใจในการดำรงชีวิต มีโภชนาการที่ดี ฯลฯ

          อย่างไรก็ตามการวัดและประเมินผลดังกล่าวในช่วงการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคม และการเรียนผ่านเทคโนโลยีที่เป็นสื่อกลาง ดังนั้นการสร้างทักษะทางอารมณ์และสังคมให้กับผู้เรียนจึงปรับเปลี่ยนโดยเน้นการเชื่อมโยงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวัน ดังที่ ศ. Stephen ได้แนะนำว่า “ครูอาจจะให้นักเรียนทำกิจกรรมและส่งงานสะท้อนตัวตน อธิบายว่าตนเองเป็นใครผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่นักเรียนชอบอย่าง TikTok อีกทั้งยังต้องให้ผู้เรียนมีโอกาสพูดคุยกับครอบครัว หรือใส่ใจกับธรรมชาติรอบตัวเพิ่มขึ้น” ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำทักษะทางสังคมและอารมณ์นี้ไปใช้พัฒนาตนเอง ตลอดจนปรับเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของชีวิตตนเองให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ไม่ว่าชีวิตจะเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายอะไรก็ตาม

ที่มา : บรรยาย Workshop หัวข้อ Learning and Assessing Wellbeing-ness in an Age of Global Educational Change โดย Prof. Stephen Dobson - Victoria University of Wellington


TAG: #Wellbeing - ness #ความเป็นอยู่ที่ดี #ทักษะในการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม #SEL #การรู้จักตนเอง #Self - awareness #การจัดการตนเอง #Self - management #การรู้จักสังคม #Social - awareness #Responsible decision - making skills #การตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบ #ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี #Relationship Skills #ทักษะศตวรรษที่21