Knowledge

สร้างเกราะป้องกัน Bully ด้วยภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

สร้างเกราะป้องกัน Bully ด้วยภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

 5 years ago 7781

ผู้เขียน: นางสาว กนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ปัจจุบันเราจะพบพาดหัวข่าวและกระแสสังคมที่กล่าวถึง “Bully” หรือการกลั่นแกล้ง รังแก ล้อเลียนโดยมีเจตนาให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอาย เสียหายทางร่างกาย และเสียใจทางจิตใจ กลายเป็นความรู้สึกแปลกแยกจากสังคมในที่สุด ความรุนแรงของการกลั่นแกล้ง รังแกกันในกลุ่มนักเรียนวัยรุ่นเป็นจำนวนมาก และยิ่งทวีความรุนแรงกลายเป็นปัญหาสังคมในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา อีกทั้งจากการศึกษาพบว่า การกลั่นแกล้งและรังแกกันในกลุ่มนักเรียนนั้น มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในช่วงวัยที่เด็กลงเรื่อยๆ นั่นหมายความว่า ยิ่งช่วงวัยของเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งลดน้อยลงเท่าไหร่ สภาวะการตัดสินใจในการแก้ไขหรือหลีกหนีปัญหากลั่นแกล้งรังแกกัน ยิ่งมีความเสี่ยงในการหาทางออกที่ขาดวิจารณญาณมากขึ้นเท่านั้น
          ผลกระทบที่อาจเกิดตามมาจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแบบผิดๆ อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและผลกระทบที่รับมือได้ยากตามมา ดังนั้น การป้องกันปัญหาการกลั่นแกล้งและรังแกกันในเด็กจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจและสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจและสังคมเริ่มต้นจากการปลูกฝังการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็ก รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่รายรอบตัวของเด็กเพื่อป้องกันและช่วยปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงในการกลั่นแกล้งรังแกกันในเด็ก

“ฉันมันอ่อนแอ และไม่มีค่า ทำอะไรก็ไม่ดีพอ!”

          จากการศึกษาการวิจัยของ รัศมีแสง และคณะ เรื่อง การเห็นคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมรังแกกันในนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น ได้กล่าวถึงอิทธิพลของประเด็นการเห็นคุณค่าในตนเองต่อการกลั่นแกล้งรังแกกันในเด็ก ทั้งนี้พบสาเหตุปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์ต่อพฤติกรรมเสี่ยงของเด็กในการกลั่นแกล้งรังแกกัน ก็คือ ปัจจัยเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ โดยพบว่าส่งผลต่อวิธีการแสดงออกของเด็กทั้งในกลุ่มของผู้ที่รังแกผู้อื่น และผู้ถูกรังแกอย่างชัดเจน ส่วนในกลุ่มเด็กที่ไม่เกี่ยวข้องต่อการกลั่นแกล้งรังแกกันนั้น กลับพบว่ามีระดับของการเห็นคุณค่าในตนเองสูงกว่าอย่างชัดเจน จากผลการศึกษาวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเสริมสร้างมุมมองเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเองของเด็กให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การตระหนักในคุณค่าของตนเองและผู้อื่น ช่วยปรับลดปริมาณพฤติกรรมเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งกันลงได้ในท้ายที่สุด

          การเห็นคุณค่าในตนเอง เป็นความรู้สึกที่มีต่อคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ฐานะทางครอบครัว ความสามารถในด้านต่างๆ ที่ตนถนัด ตอบสนองต่อความคาดหวังของตน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากผู้อื่นทั้งในเชิงบวกและลบ ประกอบรวมกันเป็นพฤติกรรม บุคลิกการแสดงออกของแต่ละบุคคล ซึ่งผลลัพธ์เมื่อบุคคลเข้ามาอยู่ในสังคม มุมมองความรู้สึกที่มีต่อตนเอง สอดคล้องกับความคาดหวังของตน บุคคลเหล่านั้นจะถือว่าเป็นผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเอง และพบพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งในระดับต่ำ แต่พบว่าบางส่วนของผู้ที่มีการเห็นคุณค่าในตนเองสูงยังมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้ที่มีลักษณะของการเห็นคุณค่าในตนเองต่ำอยู่บ้าง โดยจะสามารถอธิบายปัจจัยสอดคล้องเพิ่มเติมในประเด็นของสภาพแวดล้อมและการอบรมเลี้ยงดู

“เด็กก็เล่นกันตามประสาเด็ก อย่าถือสา!”

          ทัศนคติหรือความคิดเห็นที่คนรอบข้างเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ญาติพี่น้อง ครู แม้กระทั่งเพื่อนมีต่อพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกันนั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกที่เหมาะสมและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันของเด็ก หากคนรอบข้างให้ความสำคัญและไม่นิ่งเฉยต่อพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กที่เสี่ยงต่อการทำร้ายจิตใจและร่างกายของผู้อื่น และหันมาอบรมสั่งสอนให้เด็กเห็นคุณค่าของผู้อื่นและตนเองอย่างเท่าเทียมกัน แนวโน้มการแสดงออกของเด็กก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามการยอมรับและส่งเสริมจากบุคคลรอบข้างในที่สุด บุคคลรอบข้างจึงเปรียบเสมือนสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมและเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กทางอ้อม และถือว่าเป็นการให้การสนับสนุนทางสังคมที่เหมาะสมให้แก่เด็กอีกทางหนึ่ง

          หากจะขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น การสนับสนุนทางสังคม หมายรวมถึง ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนและครู บุคคลที่อยู่รายรอบตัวเด็ก ต่างมีความสำคัญต่อการให้ความช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งพิงทางใจ การให้คำปรึกษา รับฟังอย่างเข้าใจและแนะนำทางออกที่มีประโยชน์ต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมของเด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กกลุ่มที่รังแกเพื่อน หรือแม้กระทั่งเด็กกลุ่มที่ถูกรังแกก็ตาม ทั้งนี้ ในความเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า อาวุโสกว่าย่อมมีอิทธิพลและสามารถปลูกฝังมุมมองที่ดีที่เหมาะสมของเด็กได้ ไม่ปล่อยผ่านการกระทำที่อาจนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ผิดและส่งผลกระทบทางลบต่อร่างกายและจิตใจของผู้อื่นในภายภาคหน้า

          การเห็นคุณค่าในตนเองและการสนับสนุนทางสังคม เป็นส่วนสำคัญในการปลูกฝังเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ เพื่อป้องกันและลดพฤติกรรมกลั่นแกล้งรังแกในกลุ่มเด็ก จึงควรตระหนักถึงความสำคัญในประเด็นดังกล่าวและร่วมกันค้นหาแนวทางปรับเปลี่ยนมุมมองทัศนคติการเห็นคุณค่าต่อตนเองรวมทั้งผู้อื่น อีกทั้งบุคคลรอบข้างเองก็ปรับมุมมองและตระหนักต่อความรุนแรงจากการกลั่นแกล้งที่อาจตามมาภายหลังมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เราทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน สถานภาพใดก็สามารถมีส่วนร่วมในการปรับลดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งรังแกกันได้ทั้งสิ้น เริ่มจากการสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้ตัวเอง ตระหนักในคุณค่าของตนเอง ระวังการกระทำและคำพูดของตน รวมทั้งช่วยกันดูแลเอาใจใส่คนใกล้ชิด ไม่เพิกเฉยต่อพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้งรังแกกันของคนใกล้ตัว

ที่มา: รัศมีแสง หนูแป้นน้อย, ทัศนา ทวีคูณ และ พัชรินทร์ นินทจันทร์. (2561). การเห็นคุณค่าในตนเอง การสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมรังแกกันในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น. วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต. 32(3). 13-27.


TAG: #bullying #bully #จิตวิทยาแนะแนว #การล้อแกล้งรังแก #Bullyลดการกลั่นแกล้งในโรงเรียน #Cyberbully