Knowledge

กระตุ้นสมาธิระหว่างเรียนง่าย ๆ ด้วย ASMR

กระตุ้นสมาธิระหว่างเรียนง่าย ๆ ด้วย ASMR

 3 years ago 6144

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร

           ในการเรียนการสอนแต่ละคาบ คุณครูพบปัญหาเหมือนกันหรือเปล่า นั่นคือนักเรียนของเรามักเหม่อลอย หันหน้าไปยังหน้าต่างบ้าง ประตูห้องเรียนบ้าง หรือพอครูหันหน้าเข้ากระดานเมื่อไร นักเรียนต้องจับกลุ่มคุยกับเพื่อนทุกที แม้แต่วันที่ครูถามนักเรียนว่า “เข้าใจหรือไม่เข้าใจบทเรียนตรงไหนบ้าง” นักเรียนของเราก็ยังคงตอบกลับมาว่า “เข้าใจแล้ว” ทั้งที่ความจริงเขาไม่เข้าใจเลยตั้งแต่ต้น หากมีอาการแบบนี้เกิดขึ้นแสดงว่านักเรียนของเรากำลังประสบปัญหาการขาดสมาธิในระหว่างการเรียนการสอนนั่นเอง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่สมาธิในการจดจ่อมักมีจำกัด ฉะนั้น ครูจึงต้องคั่นเวลาฟื้นฟูสมาธิของนักเรียนสักเล็กน้อย เพื่อเป็นการผ่อนคลาย และช่วยให้นักเรียนพร้อมที่จะเรียนต่อไป วันนี้ EDUCA จึงขอแนะนำให้คุณครูได้รู้จักกับสิ่งที่เรียกกันว่า ASMR

รู้จัก ASMR คืออะไร
           ASMR หรือ Autonomous Sensory Meridian Response คือ อาการที่สมองตอบสนองต่อประสาทรับความรู้สึกอัตโนมัติ ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส ซึ่งช่วยทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และมีสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ASMR จึงมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เน้นการใช้เสียงกระตุ้นประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็นเสียงจากธรรมชาติ หรือเสียงรับประทานอาหารที่ใน Youtuber มีคนสร้าง Content เอาไว้อย่างแพร่หลายก็ถือเป็น ASMR เช่นกัน
           Giulia Poerio เป็นนักวิจัยคนแรก ๆ ที่ทดลองไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ ASMR ว่าทำงานต่อสมองของคนเราได้อย่างไร เธอทำการทดสอบกลุ่มตัวอย่างที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับให้ลองดูคลิป ASMR ผลปรากฏว่ากลุ่มตัวอย่างตอบกลับมาเป็นเสียงเดียวกันว่า ASMR สามารถช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับของพวกเขาได้จริง อีกทั้งยังมีงานวิจัยการบันทึกคลื่นสมองของคนหลากหลายกลุ่มระหว่างดู ASMR แล้วพบผลลัพธ์ที่ว่า ASMR มีส่วนช่วยทำให้สมองผ่อนคลาย ลดอาการเครียด และสร้างอารมณ์บวกได้เช่นเดียวกับการฟังเพลงอีกด้วย

ประโยชน์ของ ASMR
           นอกเหนือจากงานวิจัยข้างต้น ASMR ยังช่วยแก้ปัญหาอื่น ๆ ได้อีก เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสมาธิ ASMR ช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจ่อกับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เหมาะอย่างยิ่งที่คุณครูจะนำไปใช้ระหว่างพักการเรียนการสอนในคาบเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดสมาธิ ลดความเครียด ความกดดันจากการเรียนได้
การเรียนการสอนที่มีคุณภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องหาวิธีการดึงสมาธินักเรียนให้จดจ่ออยู่กับบทเรียนมากที่สุด การกระตุ้นนักเรียนด้วย ASMR จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีความน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการสอดแทรกกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างจัดการเรียนการสอน การฟังเพลง หรือดูวิดีโอที่ปลุกการตื่นตัวของระบบประสาท เมื่อสมองนักเรียนได้รับการกระตุ้นให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง การเรียนการสอนก็จะมีประสิทธิภาพตามมาเช่นกัน

แหล่งอ้างอิง
NAPATSAKORN C. (2563). มาทำความรู้จักกับ ASMR. 9 มิถุนายน 2564,จาก https://library.mju.ac.th/pr/?p=11202&fbclid=IwAR13lLJm89BOhKzClRjKSXm8YpMyXZ0cZS0KB756WMBFMRP0ZfOsUQ7qBxY

Peerapong Kaewthae. (2561). ASMR บำบัดอารมณ์ความรู้สึกด้วยเสียงกระซิบให้เสียวซ่านไปทั้งสมอง. 5 มิถุนายน 2564, จาก https://www.fungjaizine.com/article/story/asmr?fbclid=IwAR2FRdf9mly6sekxsq6qR9cbMv1zt906T_q78HNwxcz72LBliVh-lDY9awA


TAG: #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ASMR #Autonomous Sensory Meridian Response #กระตุ้นสมอง #คลื่นสมอง