Knowledge

9 เทคนิค ซ้อม Teach from Home อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ช่วงปิดเทอมแบบไม่  Burnout

9 เทคนิค ซ้อม Teach from Home อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ช่วงปิดเทอมแบบไม่ Burnout

 4 years ago 5529

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          อากาศร้อนขึ้นทุกวัน สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ระบาดในบ้านเราก็ดูจะทวีความรุนแรงขึ้นไม่แพ้กัน เทอมที่ผ่านมาครูหลายท่านเริ่มปรับรูปแบบการเรียนการสอน หรือแม้แต่การสอบมาเป็นออนไลน์ได้สักระยะแล้ว แต่การเจอหน้าค่าตาลูกศิษย์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ทุกวัน ไม่ได้พบปะพูดคุยกับเพื่อนครูคนอื่น ใช้เวลาอยู่แต่ในบ้านแทบจะตลอดทั้งวัน เพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ อาจทำให้ครูเกิดอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้

          9 เทคนิคเหล่านี้ช่วยให้ครูจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้น ทั้งในแง่การทำงานและชีวิตส่วนตัว เมื่อต้อง Teach from Home หรือเตรียมการสอน ตรวจข้อสอบช่วงปิดเทอมอยู่ที่บ้าน จนกว่าสถานการณ์ไวรัสระบาดในบ้านเราจะคลี่คลายลง

  1. สอบถามทางโรงเรียนถึงอุปกรณ์และโปรแกรมที่ต้องใช้
    แม้ว่าจะมีโปรแกรมมากมายให้ครูดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรีสำหรับการสอนออนไลน์ แต่บางครั้งโปรแกรมเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง หากครูต้องการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก็อาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม ครูอาจพูดคุย สอบถามกับทางโรงเรียนถึงอุปกรณ์และโปรแกรมที่ทางโรงเรียนช่วยสนับสนุนให้ได้ โรงเรียนบางแห่งมีความพร้อมที่จะสนับสนุนซื้อโปรแกรมสำหรับใช้รายปีให้กับครูทั้งระดับชั้น โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมนี้ หากครูมีโปรแกรมช่วยบันทึกคะแนนนักเรียน หรือโปรแกรมช่วยตรวจข้อสอบ ก็จะช่วยลดภาระงานของครูได้มากทีเดียว
  2. ทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้าน
    พูดคุยกับสมาชิกในบ้าน หากเราจำเป็นต้องใช้พื้นที่ร่วมกันขณะที่ต้องสอนออนไลน์ ถ้าที่บ้านมีเด็กอยู่ด้วย ควรบอกพวกเขาว่า อะไรบ้างที่ทำได้ หรือไม่ควรทำในช่วงเวลานั้น อาจฝากสมาชิกในบ้านช่วยดูแลสัตว์เลี้ยง หรือจัดการสิ่งต่างๆ ในบ้านแทนก่อน
  3. ทำภารกิจส่วนตัวให้เสร็จก่อนเริ่มสอน
    หากเป็นไปได้ครูควรทำภารกิจส่วนให้เสร็จก่อนจะเริ่มสอน ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ แต่งตัว แต่งหน้าให้ดูสดใส ทานข้าว ชงกาแฟ หรือแม้แต่การอัปเดตข่าวสาร เช็กอีเมลและโซเชียลมีเดียต่างๆ แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากครูต้องเสียเวลาไปกับกิจกรรมเหล่านี้เป็นระยะๆ ระหว่างการทำงานแล้ว ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมได้
  4. วางแผนงานที่ต้องทำ
    วางแผนงานให้ชัดเจนว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง และต้องใช้เวลานานเท่าไร โดยเรียงลำดับจากงานที่สำคัญที่สุดก่อน ไม่เฉพาะงานสอนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงงานบ้านที่ต้องทำด้วย
  5. ตั้งเตือนเวลาบนมือถือ
    ครูอาจลืมวันเวลาเมื่อสอนออนไลน์จากที่บ้าน เพราะไม่มีเสียงออดหรือระฆังดังบอกเวลาเหมือนที่โรงเรียน มือถือคือเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากในการช่วยครูจัดการเวลา สามารถใช้ตั้งเตือน หรือกำหนดเวลาสำหรับงานที่ต้องทำ เพราะโดยส่วนมากแล้ว เรามักใช้เวลาทำงานต่างๆ นานกว่าที่เราคาดการณ์ไว้ 
  6. เตรียมอาหารการกินให้พร้อม
    หากที่บ้านมีเด็กๆ อยู่ด้วย ครูควรเตรียมอาหารให้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่คืนก่อนหน้า หรือในตอนเช้า เพื่อลดความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้น กำหนดเวลาพักทานข้าวและเวลาพักเบรกสั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้สมองและร่างกายไม่ล้าจนเกินไป
  7. ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์
    แม้ครูจะมีตารางการสอนที่เป็นเวลาอยู่แล้ว แต่เมื่อ Teach from Home ตารางเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนได้หมดตามความสะดวกของครูและเด็ก เด็กส่วนมากจะสมองปลอดโปร่งมากขึ้น เมื่อพวกเขาไม่ต้องรีบตื่นเช้ามาเรียน นอกจากครูจะมีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นแล้ว สถานที่ในการทำงานก็ยืดหยุ่นขึ้นอีกด้วย ครูเลือกได้ว่าวันนี้อยากทำงานตรงไหนของบ้าน หรือจะเปลี่ยนบรรยากาศมาสูดอากาศที่เทอเรซหน้าบ้านก็ยังได้ ขอเพียงมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่แรงพอ และไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก หัวใจสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข
  8. ทำงานอดิเรก
    ในเมื่อเราไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทางอีกต่อไป เวลาหลังเลิกงานคือโอกาสทองในการเติมเต็มเวลาว่างด้วยงานอดิเรก ที่เราอาจหลงลืมไปแล้วว่าเป็นกิจกรรมที่เราเคยชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักสวนครัว ช่วยลดค่าใช้จ่ายช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ออกกำลังกายผ่าน YouTube ทำกับข้าวหรือขนมอร่อยๆ อ่านหนังสือ นอนดูซีรีส์
  9. พูดคุยกับเพื่อนครูคนอื่น
    ช่วงที่ครูอยู่บ้านเพื่อเตรียมแผนการสอนสำหรับเทอมหน้า ตรวจข้อสอบเด็ก หรือสอนออนไลน์อยู่นั้น ครูอาจไม่ได้พบปะกับเพื่อนครูท่านอื่นบ่อยเหมือนเดิม เป็นเรื่องปกติที่อาจจะรู้สึกเหงาบ้าง ครูสามารถใช้กลุ่มแชทที่มีอยู่ พูดคุย ปรึกษาปัญหากับเพื่อนครู ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน หรือเรื่องสัพเพเหระ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด และถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ

          แม้ว่าการปรับรูปแบบการเรียนรู้มาเป็นออนไลน์อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับครูไทยโดยส่วนมาก มีทั้งความท้าทายในเรื่องเครื่องมือ โปรแกรมที่อาจจะยังไม่คุ้นชิน รวมไปถึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันครั้งใหญ่ แต่วิกฤตในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสให้ครูได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือสำหรับสถานการณ์ในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ สำคัญที่สุดคือ ครูต้องไม่ลืมรักษาสมดุลระหว่างการทำงาน และดูแลสุขภาพกายใจให้มั่นคง เพื่อก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันได้

อ้างอิง
Kiesha Easley. (2020). I've Been Teaching Online for Years. Here's How to Prevent Burnout During a School Closure, Retrieved March 30, 2020 from https://mobile.edweek.org/c.jsp?cid=25919971&bcid=25919971&rssid=25919961&item=http%3A%2F%2Fapi.edweek.org%2Fv1%2Few%2Findex.html%3Fuuid%3D6E2B9C5E-6862-11EA-B628-8AF258D98AAA&cmp=eml-enl-tunews1&M=59147305&U=910456&UUID=d647909de6f1aa144d995da872daca49...

Jill Duffy. (2019). Get Organized: 20 Tips for Working From Home, Retrieved March 30, 2020 from https://sea.pcmag.com/feature/31902/get-organized-20-tips-for-working-from-home


The SHARE Team. (2019). Better Work-Life Balance Tips for Teachers, Retrieved March 30, 2020 from https://resilienteducator.com/classroom-resources/five-tips-for-teacher-work-life-balance


TAG: #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #สอนออนไลน์ #Burnout #จิตวิทยาแนะแนว #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะศตวรรษที่21 #การจัดการเรียนการสอนต่างประเทศ