Knowledge
รักษาสมดุลระหว่าง “วิชาการ” กับ “สุขภาพกายใจ” ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เตรียมพร้อมหากต้องสอนออนไลน์ในเปิดเทอมใหม่
4 years ago 9283ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
วิกฤตการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรนา สร้างผลกระทบไปทั่วโลกในทุกเรื่อง รวมทั้งการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ ยังดีที่ตอนนี้ประเทศเราหลายๆ โรงเรียนอยู่ในช่วงปิดเทอม อย่างไรก็ตาม อดคิดไม่ได้ว่าหากสถานการณ์ยังรุนแรงเช่นนี้ กำหนดการเปิดเทอมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร และเราต้องเตรียมตัวอย่างไรหากต้องสอนออนไลน์จริงๆ
EDUCA เรียบเรียงเนื้อหาที่เป็นแนวทาง ที่จะช่วยครูและผู้บริหารรับมือกับสถานการณ์หากต้องสอนออนไลน์ในเปิดเทอมใหม่ เราต้องทำอะไรบ้าง ทั้งการวางแผนการจัดการเรียนรู้ และสร้างสุขภาพกายใจที่ดีแก่นักเรียนของเรา
- วางแผน ออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ที่ต่อเนื่องสู่การเรียนรู้ออนไลน์
ผู้บริหารต้องร่วมมือกับครูหาข้อมูลและบอกให้ได้ว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบไหนที่เหมาะสมกับนักเรียนและโรงเรียนของเรา เครื่องมืออะไรที่จะมาสนับสนุนและจัดเตรียมได้ในบริบทของเรา เมื่อระบุได้ชัดเจนแล้ว ก็จะต้องวางแผนออกแบบระบบ และพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นด้วย ดังนี้
1.1 วางแผน สำรวจเครื่องมือ อุปกรณ์ และอินเทอร์เน็ต
ผู้บริหารฯ ต้องเตรียมทรัพยากรสำหรับสนับสนุนในเชิงเทคนิค และในเชิงการสอนแก่ครู ปิดเทอมนี้โรงเรียนควรจะต้องสำรวจการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการเรียนในรูปแบบนี้ของนักเรียนเสียก่อน เพื่อให้ความช่วยเหลือเท่าที่จำเป็น สำหรับนักเรียนที่จำเป็นต้องใช้แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (individual education plan) อาจจะต้องมีการปรับปรุงแผนให้เข้ากับสถานการณ์เช่นกัน หรือหากมีข้อจำกัดในเรื่องอินเทอร์เน็ต เราจะจัดการเรียนการสอนโดยมีทางเลือกอื่นๆ ได้อย่างไรบ้าง เช่น ใช้การเรียนการสอนทางไกลจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เป็นต้น
1.2 สื่อสาร เชื่อมต่อเพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
ผู้บริหารและครู ควรสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจดหมาย สารโรงเรียน เสียงและวิดีโอกับนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่นี้ ในทำนองเดียวกันครูก็ควรสื่อสารระหว่างกันด้วย เพื่อวางแผนงาน และสร้างกำลังใจในการทำงานให้ผ่านสถานการณ์เหล่านี้ได้ โดยถือว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากการสื่อสารภายในแล้ว ทางโรงเรียนควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มั่นใจอยู่เสมอว่านักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของอุปกรณ์ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณดาวเทียม ส่วนในเรื่องการสอน ครูควรมอบหมายงานด้วยคำสั่งที่ชัดเจนและมั่นใจได้ว่าทุกคนเข้าใจตรงกัน และพึงระลึกอยู่เสมอว่างานที่มอบหมายนั้นตรงตามเป้าหมายการเรียนรู้จริง ๆ
1.3 สอนให้เหมือนกำลังสอนในโรงเรียนออนไลน์ตลอดทั้งเทอม
ครูควรเปลี่ยนจากการคิดระยะสั้นๆ ว่าจะสอนแบบออนไลน์โดยมอบหมายงานระยะสั้น เป็นวางแผนงานสำหรับการเรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบและเป็นระบบ ทั้งการกำหนดเวลาเรียน การประเมินผล และการให้ผลป้อนกลับ (feedback) มีเช็กลิสต์ 3 ข้อ ในการเตรียมการสอนออนไลน์ทั้งโรงเรียน ดังนี้
• สร้างศูนย์กลางการสื่อสารระหว่างทุกคนที่เกี่ยวข้อง สื่อสารให้สม่ำเสมอ มีข้อมูลที่ชัดเจน และสอดคล้องกัน โดยอาจจัดทำเป็นชุดคำถามที่มักถูกถาม (Frequently Asked Questions; FAQs) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลานี้ เพื่อประโยชน์ในการทำงานร่วมกัน
• กำหนดตารางการเรียนในแต่ละวัน เพื่อให้ชัดเจนว่านักเรียนควรเข้าไปเรียนรู้ในโลกออนไลน์ตอนใด และจะสามารถขอความช่วยเหลือจากคุณครูได้เมื่อใด เช่น กำหนดการรายงานตัวหรือเช็คอินในระบบออนไลน์ให้ชัดเจน
• เลือกใช้แพลตฟอร์ม (Platform) และเครื่องมือที่เหมาะสม ในที่นี้หมายถึงตอบโจทย์ความต้องการและข้อจำกัดของคุณครู และนักเรียนในโรงเรียน พร้อมทั้งฝึกซ้อมการใช้ในระหว่างปิดภาคเรียนนี้ - การรักษาและส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน
นอกเหนือไปจากการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมแล้ว เมื่อหยุดเรียนเป็นเวลานานแล้วเปิดเทอมใหม่โดยที่อะไรๆ ก็ยังไม่คุ้นเคย เรื่องเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการ และการเรียนรู้ของนักเรียนได้ นอกจากนี้วิกฤตการณ์โรคระบาดยังกระทบกับสภาพจิตใจของนักเรียนด้วย ครูสามารถจัดการกับความกังวลของนักเรียนในช่วงเวลานี้ได้ ดังนี้
2.1 ติดต่อถึงกันสม่ำเสมอ โดยการติดต่อแต่ละครั้งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องงานเท่านั้น แต่ควรถามไถ่สารทุกข์สุขดิบระหว่างกันด้วย
2.2 สื่อสารด้วยความจริงอย่างเห็นอกเห็นใจ นักเรียนอาจมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวกับการบ้าน ครูควรสื่อสารกันด้วยความจริง ไม่ควรคาดการณ์ไปเองให้เกิดความกลัว ควรยืดหยุ่นและแสดงความเห็นอกเห็นใจ
2.3 สร้างความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างกันก็เป็นสิ่งดี และควรเปิดโอกาสให้มีการสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกระหว่างกันได้อย่างเปิดเผย เกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทุกคน
2.4 ระบุเวลาที่ทุกคนสามารถติดต่อกันได้ให้ชัดเจน
2.5 สอนเรื่องการดูแลตัวเองและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะนักเรียนจะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต
2.6 ลองให้นักเรียนได้ทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์หรืองานอื่นที่ไม่ใช่การบ้าน หรือโครงงานบ้าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และอาจจะนำงานเหล่านี้ไปส่งให้ผู้อื่นได้ด้วย เช่น ทำการ์ดส่งให้ผู้อื่นเพื่อให้กำลังใจกันและกัน เป็นต้น
แนวทางเหล่านี้เป็นเพียงแนวทางเบื้องต้นที่ผู้บริหารและครู สามารถร่วมกันคิดวางแผนก่อนที่จะเปิดเทอมได้ เพื่อสร้างความพร้อม และเตรียมการเชิงรุก โดยไม่ต้องรอนโยบายจากต้นสังกัดอย่างเดียว เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง และมีวิกฤตการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น นี่คือสถานการณ์จริงที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะสอนให้นักเรียนของเราเรียนรู้ และเท่าทันการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึง ซึ่งนั่นก็หมายถึงโอกาสในการเรียนรู้ของเราในฐานะครู และผู้บริหารเช่นกัน EDUCA ส่งกำลังใจให้ทุกท่านและพร้อมจะเป็นเพื่อนร่วมทางฝ่าฟันทุกสถานการณ์ เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้เด็กๆ ของเราต่อไป
อ้างอิง
Joseph, M. & Ravesi-Weinstein, C. (2020). How schools can balance academic integrity with student emotional wellness during extended school closures Communication is key from the first week out and beyond, Retrieved March 16, 2020 from https://districtadministration.com/how-schools-can-balance-academic-integrity-with-student-emotional-wellness-during-extended-school-closures/