Knowledge
1 ปีโควิด พิษร้ายการศึกษาไทย จำใจต้องฝืนทน
3 years ago 3393เรียบเรียง: สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนภายในโรงเรียนได้ โดยโรงเรียนจำเป็นต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และที่สำคัญที่สุดคือในขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ยังไม่คลี่คลาย ทำให้โรงเรียนต้องวัดผลสอบกลางภาคด้วยระบบออนไลน์ ซึ่งยังคงเป็นสิ่งใหม่สำหรับการเรียนการสอนในไทย และประสิทธิภาพที่ได้จากการเรียนการสอนออนไลน์และสอบกลางภาคออนไลน์ย่อมน้อยกว่าการจัดให้อยู่ในรูปแบบปกติอย่างแน่นอน
แถลงการณ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงแรกของสถานการณ์การแพร่ระบาด มีประเด็นบางส่วนที่น่าสนใจคือ “ตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ บนพื้นฐานของการสำรวจความต้องการทั้งจากนักเรียน ครู และโรงเรียน” วันนี้ผมจึงนำงานวิจัยชิ้นหนึ่งมานำเสนอพร้อมทั้งวิเคราะห์ให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจถึง “การสำรวจความต้องการ” ในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์กันครับ
งานวิจัยสำรวจชิ้นนี้มาจาก ดร.ภก.เสถียร พูลผล และ นายปฏิพล อรรณพบริบูรณ์ จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดยได้สำรวจนักศึกษาเภสัชศาสตร์ทุกชั้นปีจำนวน 180 คน เกี่ยวกับความคิดเห็นที่มีต่อการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิด-19 เพื่อออกแบบแนวทางการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม พบว่า นักศึกษาร้อยละ 33.3 ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์แบบเต็มรูปแบบทุกวิชาในอนาคต และรู้สึกว่ามีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนน้อยลง และมีนักศึกษาถึงร้อยละ 60 รู้สึกกังวลในการสอบออนไลน์ว่าอาจเกิดปัญหาระหว่างทำข้อสอบได้ ส่วนระบบการเรียนการสอนที่นักศึกษาชอบที่สุดยังคงเป็นการเรียนในชั้นเรียน
สำหรับการสอบออนไลน์ ปัญหาที่นักศึกษาส่วนใหญ่มักจะพบในการสอบออนไลน์คือ ปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดช่วงขณะสอบ หรือขั้นตอนการตรวจสอบที่ลุกล้ำความเป็นส่วนตัวมากเกินไป โดยนักศึกษายังให้ความเห็นอีกว่า การสอบออนไลน์สามารถทุจริตในการสอบได้ง่ายกว่าการสอบรูปแบบปกติ
ข้อมูลของงานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำมาวิเคราะห์ให้เห็นภาพที่ใหญ่ขึ้นได้ว่า นักศึกษา หรือแม้กระทั่งอาจารย์เอง ไม่ได้ชอบการจัดการเรียนการสอน และการวัดผลออนไลน์ด้วยการสอบออนไลน์ และเห็นว่าการจัดให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์ไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควรจะเป็น และถึงแม้ว่าจะทำแบบสำรวจตามนโยบายหรือแถลงการณ์ของทางภาครัฐแล้วเห็นพ้องต้องกันว่าการเรียนในรูปแบบปกตินั้นดีกว่า โรงเรียนก็ยังคงไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนและครูได้อยู่ดี เนื่องด้วยสถานการณ์ของโควิดที่บีบบังคับให้ต้องจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งก็เป็นระยะเวลา 1 ปีแล้วที่การศึกษาไทยต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับสถานการณ์แบบนี้ นักเรียนและครูจึงได้แต่เฝ้ารอความหวังให้สถานการณ์
โควิดในไทยดีขึ้น และในขณะเดียวกัน การศึกษาไทยยังคงต้องขับเคลื่อนไปข้างหน้าให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในรูปออนไลน์ไปเรื่อย ๆ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
อ้างอิง
1. เสถียร พูลผล และ ปฎิพล อรรณพบริบูรณ์. (2563). การสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาเภสัชศาสตร์ที่มีต่อการเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงโควิท 19 เพื่อออกแบบแนวทางการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ใน หนังสือประมวลบทความในการประชุมวิชาการ (Proceedings) ครั้งที่ 15 ประจำปี 2563 เรื่อง การพัฒนาระบบและกลไกอุดมศึกษาไทยในยุคพลิกผัน (Developing Thai higher education system and mechanism for disruptive era) (หน้า 36-47). กรุงเทพฯ: สมาคมเครือข่ายการพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (ควอท) และ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.
2. บัลลังก์ โรหิตเสถียร. (2563). แถลงการณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ การจัดการเรียนการสอนช่วง COVID-19 ครั้งที่ 1, สืบค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://moe360.blog/2020/04/11/แถลงการณ์-รัฐมนตรี/