Knowledge
เรียนออนไลน์ ครูเครียด...นักเรียนไม่ตอบคำถาม ทำไงดี
3 years ago 12613เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี
การสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครู เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการสอนแบบดั้งเดิม (Traditional teaching) ทำให้ครูเกิดความกดดันจากการต้องปรับตัว เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม การเรียนการสอนไม่ได้มีเพียงแค่ครูหรือผู้สอนที่เป็นองค์ประกอบหลัก แต่ยังมีนักเรียนหรือผู้เรียนที่เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อการประเมินผลด้วย ว่าการเรียนการสอนนั้นบรรลุผลตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งหลายครั้งครูต้องใช้วิธีซักถามเพื่อประเมินการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ แต่ถ้าหากไม่มีการตอบรับหรือการตอบสนองจากนักเรียน แล้วครูจะทำอย่างไรกับ “คำถามซึ่งไร้คำตอบ”
ปัญหาที่ครูประสบล้วนมีสาเหตุทั้งสิ้น ลองคาดเดาสิว่า เหตุใดนักเรียนถึงไม่ตอบคำถามขณะจัดการเรียนการสอนออนไลน์ คำตอบส่วนใหญ่ก็มีหลากหลาย เช่น กลัวตอบผิดแล้วอายครูและเพื่อน ๆ กลัวตอบผิดแล้วถูกครูดุ กลัวการเป็นจุดสนใจ ไม่กล้าแสดงออก ไม่เข้าใจคำถาม หรือตอบคำถามไม่ได้ ซึ่งเรามีวิธีแนะนำในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น 3 วิธี ดังนี้
1. ไม่ลดระยะห่างด้านการสร้างสัมพันธ์
แม้ว่าในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะทำให้ครูและนักเรียนต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แต่เราไม่ควรลดระยะห่างในการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้น ครูจะต้องทำให้ตนเองเป็นที่ไว้วางใจของนักเรียน รวมทั้งต้องสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) กับนักเรียน เพื่อลบความกลัวออกไปจากใจของพวกเขา เช่น การพูดคุยเรื่องทั่วไป ครูอาจใช้คำพูดเพื่อกระชับความสัมพันธ์ โดยการถามไถ่หรือรับฟังเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ของนักเรียน และพร้อมให้กำลังใจนักเรียน เพื่อให้พวกเขารู้สึกว่าครูเป็นเหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง
2. พูดให้เป็น
การพูดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคำพูดมีความหมายและมีอิทธิพลต่อคนฟังแตกต่างกันไป การมีจิตวิทยาในการพูดจึงเป็นเรื่องที่ครูต้องใส่ใจ บางคำพูดอาจไปกระทบจิตใจของนักเรียน ทำให้เขาไม่กล้าพูด หรือรู้สึกกลัว เช่น จริงหรอ? แน่ใจใช่ไหม? แล้วไงต่อ? ฮะ? เป็นต้น การถามคำถามของครูควรเป็นคำถามที่ค่อย ๆ เปิดทางให้นักเรียนคิดต่อเพื่อหาคำตอบ รวมทั้งเป็นคำพูดที่พร้อมสนับสนุนและให้ความสำคัญกับคำตอบของนักเรียนทุกคน โดยไม่คำนึงว่าคำตอบเหล่านั้นจะถูกหรือผิด เช่น น่าสนใจ เป็นความคิดที่แปลกใหม่ดี เป็นต้น แล้วจึงอธิบายขยายความเพิ่มเติม โดยเชื่อมโยงให้นักเรียนเข้าใจถึงคำตอบที่ถูกต้อง เพื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าคำตอบของเขาก็มีส่วนถูก หรือคล้ายคลึงกับเฉลยของครู
3. ใช้ตัวช่วย
การใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยจัดการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่สำคัญ หากนักเรียนยังไม่กล้าที่จะตอบคำถามครู หรือพูดแสดงความคิดเห็น การเปิดโอกาสให้พวกเขาใช้การเขียนหรือการพิมพ์ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนได้เช่นกัน และยังเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้นักเรียนได้อีกด้วย เรามีเว็บไซต์ช่วยกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน และการตอบคำถามต่าง ๆ มาแนะนำ คือ www.mentimeter.com เว็บนี้มีจุดเด่นในเรื่องการนำเสนอข้อมูลที่หลากหลาย รวมทั้งมีเท็มเพลต (template) และธีม (theme) ให้เลือกสวยงาม รวมทั้งแสดง Test Data ได้ ช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากขึ้นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นจะเห็นผลลัพธ์อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูดให้นักเรียนสนใจอยากเข้าร่วมกับเพื่อน ๆ ในชั้นเรียนมากขึ้น สามารถดูรายละเอียดวิธีการใช้งานได้จากลิงก์นี้เลย https://www.youtube.com/watch?v=JFFD8RjukRg
การตอบคำถามไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงแค่การพูดเท่านั้น นักเรียนสามารถที่จะเขียน พิมพ์ วาดรูป เพื่อแสดงความคิดเห็นออกมาได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างความปลอดภัยของคำตอบ หรือความคิดเห็นของนักเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะต้องใส่ใจ เมื่อนักเรียนทุกคนรู้สึกถึงความปลอดภัย พวกเขาก็พร้อมจะปลดปล่อยความกลัวที่อยู่ในใจของเขาออกมา และกล้าเปิดใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการถาม-ตอบในห้องเรียน
แหล่งอ้างอิง
aksorn. กระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์ ครูต้องเลิกถามว่า เข้าใจไหม และ ไม่รีบเฉลยคำตอบ. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.aksorn.com/think-critically (สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564)
Pnrs Puto. รวมเทคนิค ทำให้นักเรียนกล้าตอบคำถาม. (2562). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://inskru.com/idea/-LXCgKB2HakaDWmEJhhZ (สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564)
tlc spu. เทคนิคการใช้ Padlet ร่วมกับ Mentimeter และ Video Clip ในการสอนผ่าน Zoom. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://kmbytlcspu.blogspot.com/2020/03/padlet-mentimeter-video-clip-zoom.html (สืบค้นเมื่อ 20 กรกฎาคม 2564)