Knowledge

Covid ยังอยู่…สอนแบบกลับด้านดูไหม

Covid ยังอยู่…สอนแบบกลับด้านดูไหม

 2 years ago 12506

เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร

          จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ทำให้ทั้งคุณครูและนักเรียนของเราเหนื่อยกับการจัดการเรียนการสอนไม่น้อยเลยใช่ไหมคะ อีกทั้งนักเรียนของเราต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ ส่วนคุณครูก็ต้องสอนเนื้อหาให้ทันตามตัวชี้วัด และระยะเวลาที่จำกัด ถ้ารูปแบบการสอนปกติไม่ตอบโจทย์ ลองเปลี่ยนมาสอนแบบกลับด้านกันดูดีมั้ย

          การสอนกลับด้านมีที่มาจากหนังสือ Flip Your Classroom: Reach Every Student in Every Class Every Day โดย Aaron Sams และ Jonathan Bergmann ผู้บุกเบิกห้องเรียนกลับด้าน จุดประสงค์เพื่อลดปัญหานักเรียนที่พลาดโอกาสเรียนในห้องเรียนนั่นเอง เรียกกันว่า การเรียนแบบ Flipped Classroom เป็น Concept หนึ่งของการเรียนในห้องเรียน ซึ่งมีความน่าสนใจต่อการนำมาปรับใช้กับห้องเรียนของเราในรูปแบบออนไลน์

Flipped Classroom รูปแบบการเรียนเป็นอย่างไร
          เดิมทีแนวคิดเรื่อง Flipped Classroom เป็นการผสมผสานกันระหว่าง E-learning และห้องเรียนจริง แต่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันจึงปรับมาใช้กับห้องเรียนออนไลน์ที่นำรูปแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom) มาใช้ทดแทน เราจะมาทำความเข้าใจ Concept ของการเรียน 2 รูปแบบนี้กันก่อนว่า การเรียนแบบ E-learning และการเรียนแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) ทำอย่างไร แล้วทั้งสองอย่างนั้นผสมผสานกันจนกลายเป็นการเรียนแบบ Flipped Classroom ที่ตอบโจทย์ยุคปัจจุบันได้อย่างไร

การเรียนแบบ E-learning
          E-learning คือ การเรียนรู้ผ่านตัวกลางที่เป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ มีประโยชน์อย่างมากในเรื่องการช่วยลดข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่เรียน ผู้สอนสามารถนำเสนอไอเดียการเรียนรู้ได้หลากหลายรูปแบบ และผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในเรื่องที่ตนเองต้องการได้ จัดตารางเวลาเรียนได้เองว่าจะเรียนเวลาใด หรือเรียนที่ไหนก็ได้ตามสะดวก รวมถึงสามารถทบทวนบทเรียนได้ทุกเมื่อ

การเรียนแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom)
          Virtual classroom เป็นการเรียนที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่เน้นการใช้เทคโนโลยี (Technology-Based) เป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนและปฏิบัติ ซึ่งแตกต่างจากการเรียนการสอนแบบปกติ โดยอาจใช้หลักการอออกแบบการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom) 10 ขั้นตอนของ Hsu, Hamza, and Alhalabi (1999) แห่งมหาวิทยาลัย Florida Atlantic University รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 ประเมินความต้องการและเงื่อนไขจำเป็นต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ห้องเรียนเสมือนจริง (Assess the needs and the necessary conditions to satisfy them)
ขั้นตอนที่ 2 กำหนดกรอบการพัฒนาให้ชัดเจน ทั้งด้านงบประมาณ สื่อ และวิธีปฏิบัติ (Estimate the development cost, effort, and implication)
ขั้นตอนที่ 3 วางแผนสร้างนวัตกรรมห้องเรียนเสมือนจริง (Plan the virtual classroom)
ขั้นตอนที่ 4 ออกแบบเชิงโครงสร้างห้องเรียนเสมือนจริง (Design the virtual classroom)
ขั้นตอนที่ 5 เตรียมการปรับเนื้อหาสำหรับใช้สอน (Prepare and distribute contents)
ขั้นตอนที่ 6 สร้างระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ (Enabler communication)
ขั้นตอนที่ 7 วางแผนปฏิบัติการสอนแบบออนไลน์ รวมทั้งวิธีการวัดและประเมินผลผู้เรียนให้ชัดเจน (Implement online student assessment method)
ขั้นตอนที่ 8 วางแผนปฏิบัติการด้านกระบวนการจัดการชั้นเรียน (Implement class management procedures)
ขั้นตอนที่ 9 จัดเตรียมระบบการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือนจริง (Set up the system)
ขั้นตอนที่ 10 ปรับปรุงและพัฒนาระบบห้องเรียนเสมือนจริงให้พัฒนาต่อเนื่อง (Maintain and update the virtual classroom)

การเรียนทั้ง 2 รูปแบบผสมผสานเป็น Flipped Classroom มีแนวคิดอย่างไร
          แนวคิด Flipped Classroom คือการให้นักเรียนศึกษาคลิปวิดีโอของบทเรียนนั้น ๆ ด้วยตนเองมาล่วงหน้า ผ่านระบบ E-learning ที่คุณครูได้เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว จากนั้นคุณครูจะเปิดห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual Classroom) แบบ Live ผ่านระบบออนไลน์ โดยใช้โปรแกรมที่ช่วยให้เกิดการเรียนแบบ Real Time ไม่ว่าจะเป็น Zoom, Google meet, Line ให้คุณครูพิจารณาจาก 10 ขั้นตอนข้างต้นที่แนะนำไปแล้ว เห็นสมควรว่าจะใช้ช่องทางใดให้นักเรียนเข้าเรียนได้สะดวกที่สุด กิจกรรมในห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom) จะเป็นการพูดคุยถกเถียงเนื้อหาที่นักเรียนได้ศึกษาผ่านระบบ E-learning และเฉลยการบ้านแบบฝึกหัด รวมถึงตอบข้อสงสัยให้นักเรียน ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนทบทวนบทเรียนได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น มีประโยชน์อย่างมากในช่วงใกล้สอบหรือเก็บคะแนนงาน

9 ขั้นตอน จัดการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom
          การเตรียมการสอนในระบบ E-learning
ขั้นตอนที่ 1 วางแผนการจัดการเรียนการสอน โดยออกแบบแผนการสอนตามเนื้อหาที่ต้องการสอน
ขั้นตอนที่ 2 บันทึกวิดีโอการสอน โดยตรวจสอบรายละเอียดเนื้อหาในคลิปวิดีโอที่บันทึกไว้ให้ครบองค์ประกอบตามแผนการสอนข้างต้น
ขั้นตอนที่ 3 เผยแพร่ในแหล่งเรียนรู้ที่ผู้เรียนเข้าถึงได้ พร้อมเขียนอธิบายเนื้อหาในวิดีโอดังกล่าว และสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในห้องเรียนเสมือนจริง การสอนแบบ Live ในห้องเรียนเสมือนจริง (Virtual classroom)
ขั้นตอนที่ 4 เตรียมการทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน เพิ่มเติมจากคลิปวิดีโอที่ให้ศึกษามาก่อน
ขั้นตอนที่ 5 ให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมแบ่งกลุ่มทำงานในหัวข้อที่คุณครูได้มอบหมายไว้
ขั้นตอนที่ 6 ให้ผู้เรียนแต่ละคนเสนอความคิดเห็นจากการแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ และซักถามข้อสงสัย หลังจบการเรียนการสอน
ขั้นตอนที่ 7 คุณครูทำการตรวจการบ้านที่นักเรียนส่งมา
ขั้นตอนที่ 8 คุณครูดูจุดบกพร่องและจุดที่ต้องแก้ไขของการบ้าน
ขั้นตอนที่ 9 คุณครูให้นักเรียนส่งการบ้านที่ปรับแก้แล้วกลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อประเมินผลว่านักเรียนมีความเข้าใจในสิ่งที่ครูชี้แนะเพิ่มขึ้น

การสอนแบบกลับด้านมีประโยชน์อย่างไร
          การสอนแบบ Flipped Classroom ช่วยให้คุณครูประหยัดเวลาในการสอนและการทบทวนบทเรียนให้นักเรียน เมื่อระยะเวลาในการจัดการเรียนการสอนมีจำกัด การให้นักเรียนศึกษาเนื้อหาด้วยตัวเองจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะสมและสามารถใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์กับการทบทวนเนื้อหาที่สำคัญและข้อสงสัยของนักเรียนได้ นอกจากนั้น ยังทำให้คุณครูและนักเรียนมีเวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมภายในห้องเรียนร่วมกันได้มากขึ้นอีกด้วย
          หวังว่าการจัดการเรียนการสอนแบบกลับด้าน จะช่วยตอบโจทย์คุณครูและนักเรียนของเรามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเวลาสอนและเวลาเรียนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการเรียนแบบ Live ในห้องเรียนออนไลน์ได้ดีและคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

แหล่งอ้างอิง
Mary Beth Hertz. (2558). The Flipped Classroom: Pro and Con. 4 กรกฎาคม 2564,จาก https://www.edutopia.org/blog/flipped-classroom-pro-and-con-mary-beth-hertz?

TOT SME tips . (2564). E-learning คืออะไร? ทำไมถึงจำเป็นต่อการศึกษา. 6 กรกฎาคม 2564,จาก https://www.tot.co.th/sme-tips/SME-tips/2020/06/24/e-learning-คืออะไร-ทำไมถึงจำเป็นต่อการศึกษา

สุรศักดิ์ ปาเฮ. (2556). ห้องเรียนเสมือนจริง VIRTUAL CLASSROOM. 6 กรกฎาคม 2564,จาก http://www.mbuisc.ac.th/phd/academic/flipped%20classroom1.pdf

Skillane. (2564). จาก e-learning สู่ Flipped Classroom. 6 กรกฎาคม 2564,จาก https://www.skilllane.com/blog/elearning-to-flipped-classroom?

ครูอาชีพดอทคอม. (2563). รู้จักกับ Flipped Classroom พลิกการสอน สร้างห้องเรียนกลับด้าน แค่ 6 ขั้นตอน . 7 กรกฎาคม 2564, จาก https://www.kruachieve.com/ เรื่องราวน่าสนใจ/รู้จักกับ-flipped-classroom-พลิกการสอน-ส/?


TAG: #สอนออนไลน์ #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #Flipped Classroom #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #การสอนแบบกลับด้าน #E-learning #การเรียนแบบห้องเรียนเสมือนจริง #Virtual classroom #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้