Knowledge

ครูไทยต้องการอะไร เพื่อฝ่าวิกฤต COVID-19

ครูไทยต้องการอะไร เพื่อฝ่าวิกฤต COVID-19

 3 years ago 4858

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          วิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาดนับเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ท้าทายความสามารถของทุกภาคส่วนในการรับมือ เพื่อให้ธุรกิจการงานต่างๆ ยังดำเนินต่อไปได้ เช่นเดียวกับแวดวงการศึกษาที่กำลังเผชิญกับการเตรียมตัวครั้งใหญ่ที่สุดในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ที่ครูไทยส่วนใหญ่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน อะไรคือสิ่งที่ครูต้องการมากที่สุด เพื่อฝ่าวิกฤตการศึกษาในช่วงสถานการณ์เปราะบางนี้ เรามีผลสำรวจจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาฝากกัน

          จากผลการสำรวจของคณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นครู 678 คน จากโรงเรียน 67 จังหวัด ถึงความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และความต้องการสิ่งสนับสนุนจากโรงเรียนหรือรัฐบาลพบว่า แพลตฟอร์มที่ครูจะเลือกใช้มากที่สุดคือ Facebook 51.8% Line 49% Google Classroom 38% และ YouTube 31.1% โดยพบว่ามีครูที่ไม่สามารถสอนออนไลน์ได้ 11.5% และเมื่อถามว่าพร้อมแค่ไหนในวันเปิดภาคเรียนที่จะมาถึงในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ครู 58.2% ตอบว่า พร้อมระดับปานกลางขึ้นไป

          เมื่อลองให้ครูประเมินนักเรียนของตัวเอง ครูประเมินว่านักเรียน 45% เรียนผ่านออนไลน์ได้ ที่เหลือน่าจะยังไม่พร้อม เนื่องจากยังขาดทั้งคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน โดยสิ่งที่ครูอยากให้โรงเรียนและภาครัฐสนับสนุนมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
1. การอบรมเชิงปฏิบัติการสำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์
2. งบประมาณสำหรับจัดทำบทเรียนออนไลน์
3. การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง และอุปกรณ์สื่อสารสำหรับนักเรียนทุกคน

          สำหรับ EDUCA เอง เราก็ได้เปิดให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วไทยร่วมทำแบบสอบถาม สำรวจความต้องการในภาวะวิกฤต COVID-19 เช่นเดียวกัน มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 817 คน พบว่า
ทักษะสำคัญหรือความรู้ที่ครูต้องการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
1. การผลิตสื่อการเรียนรู้ 29.91%
2. การพัฒนาทักษะใหม่ๆ สำหรับเด็ก 17.09%
3. การจัดการเรียนรู้ 13.06%

สิ่งที่ครูต้องการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
1.อุปกรณ์การสอน เช่น คอมพิวเตอร์ 71.11%
2. ระบบอินเทอร์เน็ต 57.28%
3. คู่มือการสอน 42.84%

          ในซีกโลกตะวันตก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 ระบาด ก็เคยมีผลการสำรวจวิธีการใช้สื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของครูในปีการศึกษา 2561 – 2562 โดยใช้ข้อมูลจาก American Instructional Resources Survey หรือ AIRS สอบถามคุณครูเกือบ 6,000 คน ว่าใช้สื่อการเรียนการสอนใดบ้าง ใช้บ่อยแค่ไหน คุณครูและนักเรียนเองพบเจออุปสรรคอะไรบ้าง ถ้าต้องเข้าถึงการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล

          รายงานชี้ให้เห็นว่า สื่อการเรียนการสอนแบบดิจิทัลไม่ได้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่มีองค์ประกอบของหลักสูตรในการเรียนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในตัวของมันเองในสายตาของครู แม้ว่าจะมีครูมากถึง 80% บอกว่า เคยใช้สื่อการเรียนการสอนดังกล่าวในชั้นเรียนก็ตาม แต่ครูที่ใช้สื่อดิจิทัลเป็นสื่อการสอนหลักในห้องเรียนจริงๆ กลับมีน้อยกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

          ไม่ต่างกับครูไทย แพลตฟอร์มที่ครูอเมริกันนิยมใช้ในการเรียนการสอน ได้แก่ YouTube และ Kahoot! แต่ครูที่นี่ยังใช้ BrainPOP ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมวิดีโอสั้นๆ แบบทดสอบต่างๆ รวมถึงกิจกรรมเสริมการเรียนรู้อื่นๆ ด้วย

          จากผลการสำรวจของโพลหลายแห่ง โดยรวมแล้วเราพบว่า แม้ครูจะเคยใช้สื่อออนไลน์เข้ามาเสริมในบทเรียนเป็นครั้งคราว แต่เมื่อต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์เต็มตัว ครูค่อนข้างมีความกังวลหลายๆ เรื่อง เพราะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ทั้งหมด แม้จะไม่ง่ายในตอนต้น แต่หากทุกฝ่ายร่วมมือกันเต็มในวิกฤตนี้ เราจะได้เห็น New Normal ที่การเรียนรู้ไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องรูปแบบ สถานที่ และเวลาอีกต่อไป

อ้างอิง
วิจัยชี้ครูไม่พร้อมสอนออนไลน์เฉียด50% นักเรียนพร้อมแค่45% ไม่มี’คอมพิวเตอร์-เน็ต’เกินครึ่ง Retrieved April 23, 2020, from https://www.matichon.co.th/education/news_2148365

Schwartz, S. (2020, April 16). RAND Study: Online Resources Not Teachers' Top Choice Before Coronavirus Pandemic. Retrieved April 20, 2020, from https://blogs.edweek.org/teachers/teaching_now/2020/04/rand_ study_online_resources_not_teachers_top_choice_before_coronavirus_pandemic.html


TAG: #โควิด19 #Covid19 #โรคระบาดใหญ่ #สอนออนไลน์ #เทคโนโลยี #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #ทักษะศตวรรษที่21