Knowledge

หนองกี่โมเดล : โรงเรียนดิจิทัลเตรียมนักเรียนสู่อนาคต

หนองกี่โมเดล : โรงเรียนดิจิทัลเตรียมนักเรียนสู่อนาคต

 1 year ago 2302

ผอ.ชาตรี อัครสุขบุตร โรงเรียนหนองกี่พิทยาคม
ณัฐกฤตา ศิริกิจ Apple Teacher โรงเรียนหนองกี่พิทยาคม
สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม ผู้เรียบเรียง

 

          ผู้บริหารควรจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความเข้าใจร่วมกันกับชุมชน สร้างเสริมทักษะดิจิทัลและวัฒนธรรมองค์กรที่ดีแก่ครู และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับผู้ปกครอง เมื่อโรงเรียนปรับเปลี่ยนหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้น นักเรียนก็จะมีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครูผ่านกระบวนการ PLC และระหว่างเพื่อนนักเรียนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ครูสามารถออกแบบได้อย่างมีอิสระและสร้างสรรค์

          โรงเรียนหนองกี่พิทยาคมเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำอำเภอที่มีความพร้อมเหมือนกับโรงเรียนประจำอำเภอทั่วไป ในช่วง 6 – 7 ปีก่อน บริบทของโรงเรียนยังไม่สามารถตอบสนองการใช้เทคโนโลยีจัดการเรียนรู้ภายในสถานศึกษามากนัก จนกระทั่งโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาสถานศึกษา จึงได้เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้ในสถานศึกษามากขึ้น

          การเข้าถึงข้อมูลและการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนรู้ภายในสถานศึกษา เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้ามากขึ้น การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในห้องเรียนสามารถเปลี่ยนมิติการจัดการเรียนรู้ได้ทั้งจากในมุมของนักเรียนและครู ผ่านบทบาทของผู้บริหารที่จะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานทั้ง hardware และ software นอกจากนั้นผู้บริหารต้องพูดคุยกับชุมชนให้เข้าใจและปรับตัวกับการเริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนรู้ รวมถึงกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่างชุมชนกับโรงเรียน เพื่อมุ่งพัฒนาทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ให้กับผู้เรียนทุกคน

          นอกเหนือจากการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและชุมชนแล้ว ผอ. ชาตรี เน้นย้ำว่า โรงเรียนจำเป็นต้องเตรียมครูให้พร้อมควบคู่กันไปด้วย โดยขั้นเริ่มต้นของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติคือการเสริมความรู้ด้านเทคโนโลยีผ่านการอบรมในด้านต่าง ๆ เช่น การจัดการเรียนรู้ การใช้เทคโนโลยีการศึกษา การวัดและประเมินผล รวมถึงการจัดกระบวนการ PLC เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการสอนด้วยการแบ่งปันประสบการณ์และกรณีศึกษาจากชั้นเรียนของครูเอง

          อย่างไรก็ดี กระบวนการพัฒนาเตรียมความพร้อมครูอาจเกิดอุปสรรคจากครูต่างยุค เพราะครูบางกลุ่มอาจคุ้นชินกับการสอนแบบเดิม ในขณะที่ครูอีกกลุ่มพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โรงเรียนต้องสร้างความมั่นใจให้เพื่อนครูพร้อมเปลี่ยนแปลงตนเอง และสร้างเครือข่ายความช่วยเหลือระหว่างเพื่อนครูให้ทั่วทั้งสถานศึกษา

          ครูณัฐกฤตา ร่วมแบ่งปันว่า หลังจากโรงเรียนได้เริ่มนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนรู้แล้ว สภาพแวดล้อมในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน โรงเรียนมีโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นักเรียน และครูใช้เทคโนโลยีในการเรียนรู้มากขึ้น โรงเรียนปรับวิธีการเรียนการสอน หลักสูตรให้ยืดหยุ่น และตอบสนองความต้องการของผู้เรียน รวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ส่วนนักเรียนเองก็มีความสุขกับการเรียนมากขึ้นพร้อมทั้งได้เรียนรู้ทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 ผ่านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

          แนวโน้มการพัฒนาการนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา คือ การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ให้เป็นการเรียนรู้แบบเชิงรุก (Active Learning) มากขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ผ่านการลงมือทำ และเสริมการจัดการเรียนรู้แบบ Coding เพื่อสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์และการเป็นนวัตกรให้กับผู้เรียน

          โรงเรียนจัดหาอุปกรณ์ให้นักเรียนได้เข้าถึงสื่อและกิจกรรมการเรียนรู้อย่างทั่วถึง ด้วยการเริ่มปรึกษาหารือ สร้างความร่วมมือกับผู้ปกครอง รวมถึงจัดเตรียมอุปกรณ์ให้กับนักเรียนที่ยังขาดความพร้อม และฟูมฟักเป็นเครือข่ายระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนช่วยกันผลักดันนโยบายนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม โรงเรียนควรปรับเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเริ่มจากส่วนที่พร้อมก่อน แล้วค่อยๆขยายต่อ ซึ่งเวลาจะช่วยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีคุณภาพทั้งกับครูและนักเรียน

          ในกรณีเกิดปัญหาการใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อวัตถุประสงค์นอกเหนือจากการเรียนร็ ครูไม่ควรใช้อำนาจบังคับโดยตรง แต่ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนสร้างข้อตกลงร่วมกัน เช่น นักเรียนสร้างกฎว่าจะไม่เล่นเกมในคาบเรียน แล้วจึงนำข้อตกลงเหล่านี้เสนอกับผู้ปกครอง เพื่อให้ช่วยดูแลช่วงเวลาการใช้งานของนักเรียนแต่ละคนด้วยอีกทางหนึ่ง

          ครูณัฐกฤตากล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูต้องเปิดใจและกล้าปรับเปลี่ยนตนเอง เพื่อให้นักเรียนมั่นใจ พัฒนาตนเองพร้อมก้าวไปสู่อนาคตที่ผันผวน

Apple Teacher คือโปรแกรมการเรียนรู้ระดับมืออาชีพฟรี เข้าร่วมที่ education.apple.com
EDUCA 2022 หัวข้อ เตรียมตัวนักเรียนให้พร้อมสู่อนาคตดิจิทัล https://event.educathai.com/educa2022/online-workshop/2898


TAG: #Apple Teacher #Apple #Digital #โรงเรียนดิจิทัล #โรงเรียนนำร่อง #การใช้สื่อและเทคโนโลยีในการจัดการเรียนรู้ #เทคโนโลยี #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21 #AppleTeacher