Knowledge
เราติดเชื้อแล้วหรือยังนะ พาเด็กเรียนรู้การแพร่กระจายของไวรัส ผ่านเกมจำลองโรคระบาด
4 years ago 6442ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
“นี่เราติดเชื้อแล้วหรือยัง” กลายเป็นคำถามที่ใครๆ ต่างก็ถามตัวเองอยู่ทุกวัน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในบ้านเรา ที่พลิกโฉมรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมไปอย่างสิ้นเชิง ครูและเด็กๆ หันมาเรียนผ่านออนไลน์กันมากขึ้น เพื่อหลีกเสี่ยงโอกาสเสี่ยงในการรับเชื้อ
ท่ามกลางวิกฤต หากมองอีกด้าน เรามักเห็นโอกาสดีๆ เสมอ ในสถานการณ์ที่เชื้อ COVID-19 กำลังแพร่ระบาดอยู่นี้ หากเรากลับมาจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนได้อีกครั้ง นี่คือโอกาสทองในการตั้งคำถามพวกเขาว่า ทำไมจากจำนวนผู้ติดเชื้อแค่ไม่กี่คนในประเทศเดียว ถึงแพร่กระจายเป็นแสนคนไปทั่วโลกได้ในเวลาไม่กี่เดือน สำคัญที่สุดคือ เด็กๆ จะเป็นผู้ค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง ผ่านเกมจำลองโรคระบาด ที่ไม่ต้องเสี่ยงเหมือนในชีวิตจริง
เรียนรู้ให้สนุกผ่านเกมจำลองโรคระบาด
อุปกรณ์
1. ชีท A สำหรับเด็กที่สมมติให้เป็นผู้ติดเชื้อคนแรก
2. ชีท B สำหรับเด็กที่เหลือ
3. ชีท C สำหรับครู
4. ปากกา
หมายเหตุ ห้องเรียนควรมีเด็กอย่างน้อย 35 คน
ชีท A
ชีท B
ชีท C
กติกาและขั้นตอนการเล่น
- กฎสำคัญของเกมนี้จะต้องเก็บทุกอย่างเป็นความลับ ครูอธิบายกติกาให้เด็ก โดยไม่ต้องบอกว่ากำลังเล่นเกมอะไรอยู่ การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเมื่อเด็กๆ ค้นพบโครงสร้างของเกมด้วยตัวพวกเขาเอง
- แจกชีทให้เด็กคนละ 1 แผ่น ไว้ใช้บันทึกผล โดยชีทแต่ละแผ่นจะมีหมายเลขลับ 1 หมายเลข เด็กที่เป็นผู้ติดเชื้อคนแรกจะได้ชีท A ที่มีหมายเลข 0 เป็นเลขตั้งต้น
- เกมนี้จะเล่นหลายรอบ รอบแรกให้เด็กบอกหมายเลขของตัวเองกับเพื่อนอีกคน (อย่าให้คนอื่นได้ยิน) จากนั้นให้คูณเลขของตัวเองกับเลขของเพื่อน แล้วบันทึกผลลัพธ์ที่ได้ ซึ่งเลขนี้จะเป็นเลขใหม่ของแต่ละคนในรอบต่อไป
- ยกตัวอย่าง เลขของเราคือ 4 ขณะที่เลขของเพื่อนคือ 9 เลขของเราในรอบต่อไปคือ 4x9 = 36
- รอบที่สอง ให้มองหาเพื่อนอีกคน แล้วแลกเบอร์กัน คูณเลขของเรากับเลขของเพื่อน บันทึกผลลัพธ์ที่ได้ไว้เป็นเลขใหม่ในรอบต่อไป ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 4 นาที ครูค่อยสั่งยุติเกม
- เมื่อหมดเวลา ให้เด็กสังเกตเลขสุดท้ายที่ได้ ส่วนใหญ่เด็กจะได้เลข 0 เกือบทั้งห้อง
- รวบรวมผลลัพธ์จากเด็กๆ เพื่อนำมาใช้เป็นคำถามต่อไป
- ถามเด็กๆ ว่า ใครคือหมายเลข 0 คนแรก (มีเพียงคนเดียวเท่านั้น) ครูบันทึกข้อมูลลงในชีท C
- ถามเด็กๆ ว่า ในรอบที่ 2 ของเกม ใครบ้างที่มีเลข 0 เป็นเลขตั้งต้น ถามคำถามเดียวกันทุกๆ รอบ แล้วบันทึกข้อมูลไว้จนกว่าจะไม่มีเด็กคนไหนได้ 0 เพิ่มขึ้นอีก อย่าเพิ่งบอกผลลัพธ์ใดๆ กับเด็ก
- การบันทึกผลเฉพาะจำนวนเด็กที่ติดเชื้อ “รายใหม่” ในแต่ละรอบของเกมเป็นเรื่องสำคัญมาก - ขณะที่เกมกำลังดำเนินไป ครูต้องให้เวลาเด็กในการสะท้อนคิดถึงจำนวนเพื่อนทั้งหมดที่ได้เลข 0
- เด็กแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในกลุ่ม สรุปออกมาเป็นกราฟความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมและเวลาของเพื่อนที่ได้เลข 0 แล้วให้ตัวแทนออกมาวาดกราฟบนกระดาน อธิบายว่าทำไมกราฟถึงมีลักษณะเช่นนั้น
- เปรียบเทียบการคาดการณ์ของเด็กๆ กับผลลัพธ์จริงที่ได้จากเกม แล้วให้ครูวาดกราฟโดยใช้ข้อมูลจากชีท C ที่ครูบันทึกได้ลงบนกระดานหน้าห้อง
เกมจบ ครูต้องไม่จบ ตั้งคำถามกระตุ้นต่อมคิดกับเด็กๆ
กราฟที่เราได้จากเด็กๆ ไม่ได้เป็นบทสรุปสุดท้ายของเกมในเรื่องการระบาดของไวรัส แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามกระตุ้นความคิดของพวกเขาได้มากมาย เช่น
- กราฟนี้บอกอะไรเราได้บ้าง เกิดอะไรขึ้นกับจำนวนเพื่อนที่ติดเชื้อ ที่ได้หมายเลข 0 ขณะเล่นเกม
- กราฟนี้แตกต่างหรือคล้ายคลึงกับที่เด็กคิดไว้หรือไม่ อย่างไร
- ทำไมเส้นกราฟถึงเป็นรูปตัว S เกี่ยวข้องอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นขณะเล่นเกม
มองเผินๆ แล้วดูเหมือนเกมนี้จะสอนให้เด็กๆ เห็นภาพการระบาดของไวรัสในแบบรูปธรรมมากขึ้น แต่จริงๆ แล้ว เนื้อหาของเกมสามารถปรับเปลี่ยนให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ครูกำลังสอนในห้องเรียนได้หลายเรื่อง เช่น สังคมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ครูอาจให้เด็กยกตัวอย่างสิ่งที่คล้ายคลึงกับการระบาดของไวรัสในบริบทอื่นๆ เช่น แฟชั่นเสื้อผ้า ทรงผม มือถือรุ่นใหม่ การเคลื่อนไหวทางสังคม ฯลฯ เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้คิด เชื่อมโยง ต่อยอดความรู้จากในห้องเรียน สู่สถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับของพวกเขามากยิ่งขึ้น
อ้างอิง The Infection Game: The Shape of Change By Rob Quaden and Alan Ticotsky With Debra Lyneis https://flusurvey.ie/media/uploads/Shape5InfectionGameSF.pdf