Knowledge

ทักษะทางการวิจัย และค้นคว้าข้อมูล...ทักษะจำเป็นในการเรียนรู้ออนไลน์ของนักเรียน

ทักษะทางการวิจัย และค้นคว้าข้อมูล...ทักษะจำเป็นในการเรียนรู้ออนไลน์ของนักเรียน

 4 years ago 21361

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ทักษะการค้นคว้าหาข้อมูล เป็นสิ่งจำเป็น และกลายเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ในยุคปัจจุบันเนื่องจากอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ด้วยวิธีการที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายดายมากยิ่งขึ้น อินเทอร์เน็ตจึงนับว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการศึกษาหาข้อมูล และเรียนรู้สิ่งต่างๆ ดังนั้น ความสามารถในการค้นคว้าหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเที่มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ของข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างสูงสุด การอบรม และปลูกฝังทักษะดังกล่าวซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 เพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดจนการดำรงชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

          ในทางกลับกัน ขณะที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปอย่างง่ายดาย แต่ก็ข้อมูลที่ค้นพบอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือเป็นความจริงทั้งหมด นำไปสู่ปัญหาของการวิเคราะห์ การตีความ รวมทั้งความเข้าใจผิดจากการตีความข้อมูลที่ไม่ถูกต้องเหล่านั้นได้เช่นกัน เป็นอุปสรรคต่อการค้นคว้าข้อมูลที่มีประสิทธิภาพของนักเรียน

“อยากรู้อะไรให้ใช้อินเทอร์เน็ต…ค้นคว้าอย่างไรให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ”
          การใช้ระบบค้นหาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในยุคปัจจุบันถือเป็นเรื่องใกล้ตัว และกลายเป็นความเคยชินเมื่อต้องการข้อมูลหรือทำความเข้าใจเรื่องใหม่ๆ การเข้าถึงข้อมูลหรือแม้กระทั่งการสร้างข้อมูลขึ้นอย่างง่ายดาย จนบางครั้งผู้ค้นคว้าไม่ทันได้ย้อนไปพิจารณาถึงความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมูลเหล่านั้นก่อนนำมาใช้ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และถ่ายทอดข้อมูลออกไปโดยไม่ถูกต้อง ดังนั้น ในการค้นคว้าข้อมูลทุกครั้งผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะด้วยช่องทางอะไร ต้องหมั่นตรวจสอบความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มาข้อมูลเหล่านั้นด้วย

“ทักษะที่ดี เกิดจากพื้นฐานที่ดี”
          เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันเอื้ออำนวยให้การดำรงชีวิต และการได้มาซึ่งข้อมูลต่างๆ มีความรวดเร็วและสะดวกสบาย ส่งผลให้ความสามารถในการจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานๆ นั้นลดน้อยลง เมื่อขาดสมาธิและขาดความอดทนในการคิด วิเคราะห์และค้นคว้าข้อมูลเป็นเวลานานๆ เมื่อเจอข้อมูลที่มีลักษณะซับซ้อนจึงไม่สามารถจับคำสำคัญ (keyword) และใจความสำคัญหรือประเด็นหลักของเรื่องได้ รวมทั้งไม่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลได้
          พื้นฐานที่ดีในที่นี้คือความสามารถในการทำความเข้าใจสิ่งที่ต้องการค้นหา ซึ่งผสมผสานทักษะต่างๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ การฟังที่ดี การจับประเด็นสำคัญที่ดี และมีสมาธิ ความสามารถในการใช้ภาษา การบรรยายหรืออธิบายข้อมูลได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล คำสำคัญที่ใช้ในการค้นคว้าค้นหา การคัดเลือกหรือพิจารณาข้อมูลที่ต้องการใช้ และเข้าใจสาระสำคัญของข้อมูลที่ตนเองค้นพบได้ เป็นต้น เมื่อพื้นฐานที่ดีประกอบกับ ทักษะที่ดี ซึ่งหมายถึง ทักษะความรู้ในการเข้าใจภาษา ความสามารถในการใช้ภาษาในการสื่อสารรับข้อมูล และถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้ผ่านการฟัง พูด อ่านและเขียน ซึ่งในประเด็นนี้อาจจะมุ่งเน้นไปที่การฟังและพูดเป็นหลักในช่วงเริ่มต้น เนื่องจากเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ใกล้ตัวนักเรียนที่สุด อีกทั้งใช้ภาษาที่ง่าย ไม่ซับซ้อน ก่อนจะพัฒนาไปสู่การรับข้อมูลและถ่ายทอดผ่านการอ่านและเขียนที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบันนักเรียนนิยมรับข้อมูลผ่านการฟัง และชมสื่อออนไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ การปลูกฝังทักษะการฟังที่ดีจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญต่อการฝึกฝน และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาลักษณะอื่น ๆ ตามลำดับดังนั้น พื้นฐานของทักษะการคิดและค้นคว้าข้อมูลที่ดี ที่อาจจะไม่ได้จำกัดเฉพาะการค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว

“แนวทางพัฒนาทักษะการวิจัยและการค้นคว้าให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น”
          หากต้องการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะในการวิจัย และการค้นคว้าที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นนั้น ขั้นแรกจะต้องทำความเข้าใจและเชื่อมั่นในความสามารถของนักเรียนในการใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นข้อมูลที่ถูกต้องได้ การอบรมหรือฝึกฝนทักษะดังกล่าวไม่ใช่การบอกว่านักเรียนใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นคว้าไม่ถูกต้องหรือใช้ได้ไม่ดีพอ แต่เรียนรู้เพื่อใช้ให้ดี และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีแนวทาง ดังนี้
1. การฝึกอบรมผ่านการปฏิบัติจริงๆ และสะท้อนรายละเอียด วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ว่ามีลักษณะเช่นไร มีแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ หรือมีการรับรองความถูกต้องของข้อมูลเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหน
2. จัดทำคู่มือหลักการการค้นคว้าข้อมูล ข้อแนะนำแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งข้อควรระวังในการนำข้อมูลไปใช้อย่างเหมาะสม และถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การไม่คัดลอกข้อมูลของผู้อื่น หรือแอบอ้างข้อมูลมาใช้โดยไม่ขออนุญาตหรือให้การอ้างอิง เป็นต้น
3. จัดหาชั่วโมงเรียนที่ทำการอบรมฝึกฝนทักษะการวิจัย และการค้นคว้าเบื้องต้น เพื่อปูพื้นฐานในการเรียนรู้ต่อยอดในระดับที่สูงขึ้น อีกทั้งทำการประเมินความเข้าใจของนักเรียนในการค้นคว้า สืบค้นข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
4. บูรณาการเชื่อมโยงทักษะการค้นคว้าข้อมูลและหลักการวิจัยอย่างง่ายเข้ากับวิชาเรียนต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะเข้ากับการเรียนรู้และใช้ในชีวิตประจำได้อย่างหลากหลาย โดยไม่จำเป็นจะต้องจำกัดขอบเขตแค่เพียงบางวิชาเท่านั้น
5. ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่เพียงข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ตเท่านั้น เช่น หนังสือ วารสารและบทความที่ได้รับการรับรอง เป็นต้น

          ดังนั้น การปลูกฝังหรืออบรมทักษะการวิจัย และค้นคว้าข้อมูลที่ดีให้แก่นักเรียนนั้น ครูในฐานะผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้เองจะต้องมีการพัฒนาบทบาทของตนเองให้มีทักษะที่ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ เพื่อเป็นแบบอย่างที่นักเรียนสามารถปฏิบัติตาม และซึมซับกระบวนการคิดวิเคราะห์จากครูจนเกิดเป็นความคุ้นชิน และกลายเป็นทักษะที่ดีที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตต่อไปได้

อ้างอิง:
Teaching Students Fundamental Web Research Skills: Resilient Educator. (2020, May 20). Retrieved May 21, 2020, from https://resilienteducator.com/classroom-resources/research-skills-teaching-your-students-the-fundamentals/


TAG: #ทักษะศตวรรษที่21 #การวิจัย #การวิจัยพัฒนาการจัดการเรียนรู้ #การเรียนรู้ออนไลน์ #ทักษะการวิจัย #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21