Knowledge
สอนนักเรียนให้มองโลกแง่ดีได้อย่างไร เมื่อหันไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องดาร์กๆ
4 years ago 5614แปลและเรียงเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมือง และชีวิตที่วุ่นวายในแต่ละวัน คงไม่แปลกถ้าวิถีชีวิตของเราตอนนี้กำลังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คนเรามองโลกในแง่ร้ายกันมากขึ้น แล้วอาชีพ “ครู” ที่สังคมมองว่าควรเป็นต้นแบบที่ดีในการเรียนรู้และการใช้ชีวิตแก่ลูกศิษย์ จะสอนนักเรียนให้มองโลกในแง่ดีได้อย่างไร เมื่อหันไปทางไหนก็เจอแต่เรื่องที่ชวนให้ปวดหัวอยู่ตลอดเวลา
มองโลกในแง่ดีแล้วได้อะไร
งานวิจัยหลายชิ้นยืนยันตรงกันว่า คนที่มองโลกในแง่ดีจะรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น เสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าน้อยลง และมีอายุยืนยาวขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อเรามองในแง่มุมการศึกษาแล้ว การศึกษาโดยสุ่มตัวอย่างจากครู 96 โรงเรียน พบว่าการมองโลกแง่ดีเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของนักเรียน งานวิจัยนี้เน้นการสร้างบรรยากาศเชิงบวกในชั้นเรียน โดยมีการควบคุมปัจจัยด้านความหลากหลายทางประชากร และผลการศึกษาก่อนหน้าของนักเรียน
แม้ว่าการเป็นคนมองโลกในแง่ดีจะมีประโยชน์มากขนาดนี้ แต่เมื่อครูอเมริกันลองถามนักเรียนของพวกเขาว่า “มองเห็นตัวเองในอนาคตเป็นอย่างไร” คำตอบที่ได้กลับทำให้ครูต้องตกใจ เพราะครึ่งหนึ่งของนักเรียนไม่ได้วางแผนจะเรียนให้จบระดับมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย นักเรียนน้อยกว่าครึ่งห้องไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะมีชีวิตที่ดี และมีความสุข เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง พวกเขาเห็นเพื่อนๆ พักการเรียน หลายคนต่างก็ต้องจัดการกับวิกฤตภายในครอบครัว
งานวิจัยยังพบว่า แม้จะเราสิ้นหวัง หมดหนทาง แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ได้จากเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ สำหรับครูหรือนักจิตวิทยาแล้วการฝึกมองโลกในแง่ดี เป็นวิธีช่วยให้นักเรียนมองเห็นอนาคตที่มีความหวัง แนวทางเหล่านี้สามารถปรับให้เข้ากับห้องเรียนจริง รวมถึงชั้นเรียนออนไลน์ได้อีกด้วย
สร้างแรงบันดาลใจจากคนที่ประสบความสำเร็จ
นักเรียนจะมองเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ถ้าครูยกตัวอย่างคนที่มานะบากบั่นแล้วประสบความสำเร็จ หากเป็นไปได้ควรเลือกคนที่มีพื้นเพใกล้เคียงกับนักเรียน ลองให้นักเรียนอ่านหรือดูวิดีโอเกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น Greta Thunberg นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน Maya Angelou กวีผิวสีชาวอเมริกัน Steve Jobs อดีตประธานบริหารแอปเปิล Thomas Edison นักประดิษฐ์ชาวอเมริกันผู้มอบแสงสว่างแก่โลก Malala Yousafzai นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีชาวปากีสถาน ที่ไม่ยอมให้ความล้มเหลวและความพิการมาเป็นอุปสรรคขวางกั้นความสำเร็จ
เรียนรู้ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น
ครูควรพยายามหาโอกาสให้นักเรียนได้ช่วยเหลือผู้อื่น อาจเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อมรอบตัว ผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ ช่วยเพื่อนที่ขาดเรียนให้เรียนตามได้ทัน เป็นติวเตอร์ให้เพื่อน คอยเป็นบัดดี้ให้รุ่นน้อง หรือเพื่อนที่มีความพิการ ทำไมการช่วยผู้อื่นถึงมีความสำคัญ เพราะเมื่อนักเรียนเห็นว่า สิ่งที่ตัวเองทำถึงมีประโยชน์ และเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นอย่างไรแล้ว สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ หล่อหลอมให้เขาเข้าใจว่า โลกดีขึ้นได้จริงจากสิ่งที่เราทำ นี่จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการฝึกฝนให้นักเรียนมองโลกในแง่ดีมากกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก
รู้จุดแข็งของตัวเอง
ครูควรช่วยให้นักเรียนเห็นตัวเองในแง่มุมที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลายครั้งที่นักเรียนอาจจะมองไม่เห็นจุดแข็งของตัวเอง เพราะมีชีวิตที่ยากลำบาก วิธีการทดสอบว่านักเรียนมีปัญหานี้หรือไม่คือ ให้นักเรียนเติมประโยคนี้ให้สมบูรณ์ลงบนกระดาษ 10 ครั้ง “ฉันคือคนที่...” โดยแต่ละครั้งให้เขียนอะไรก็ได้ที่เป็นเรื่องดีๆ เกี่ยวกับตัวเอง หรือไม่ก็วาดรูป “สิ่งที่ดีที่สุดในตัวฉัน” หรือจะเขียนเรียงความในหัวข้อ “ฉันให้อะไรกับห้องเรียน โรงเรียน ชุมชนหรือโลกได้บ้าง” แทนก็ได้
สอนการโต้วาทีอย่างเคารพผู้อื่น
การโต้วาทีอย่างเป็นมิตรเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนเรียนรู้ที่จะมองต่างมุม เห็นข้อดีของแต่ละสถานการณ์ และยอมรับความเห็นที่แตกต่าง ขั้นตอนกิจกรรม
- นักเรียนแบ่งกลุ่มกัน ให้ฝ่ายที่เห็นด้วยเสนอข้อคิดเห็นของตน
- ฝ่ายคัดค้านสรุปข้อคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นด้วย ทั้งสองฝ่ายทบทวนความเข้าใจซึ่งกันและกัน
- ฝ่ายคัดค้านเสนอข้อคิดเห็นฝ่ายตน ทั้งสองฝ่ายควรสลับตำแหน่งกัน แล้วถกเถียงความเห็น
- ให้ทุกกลุ่มรวมกันแล้วสะท้อนความเห็น นักเรียนเห็นอะไร เรียนรู้อะไรบ้าง ข้อถกเถียงที่น่าสนใจที่สุดคืออะไรทำให้แต่ละกลุ่มคิดต่างกัน
ตัวอย่างหัวข้อ
นักเรียนควรได้รับอนุญาตให้เคี้ยวหมากฝรั่งในโรงเรียนหรือไม่
เราไม่มีทางทำให้อาหารในโรงอาหารอร่อยขึ้นได้แล้วจริงหรือ
ได้คะแนนสอบต่ำกว่าเกณฑ์ จะพลิกสถานการณ์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองได้อย่างไร
เป็นเรื่องปกติหากนักเรียนแต่ละกลุ่มจะมีความเห็นที่ขัดแย้งกันบ้าง ครูต้องเตือนให้นักเรียนใช้ความเห็นอกเห็นใจ ใช้ทักษะการแก้ปัญหาสังคม และทักษะการสื่อสาร เพื่อพัฒนาตัวเอง ให้นักเรียนฟังเพื่อนอย่างตั้งใจ เคารพความคิดของกลุ่มอื่น แม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม กิจกรรมเหล่านี้จะค่อยๆ หล่อหลอมให้นักเรียนมองโลกในแง่ดีมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้เองที่จะช่วยให้พวกเขามองเห็นเส้นทางสู่อนาคตที่สดใส
อ้างอิง:
Elias, M. (2020, June 23). How to Boost Students' Sense of Optimism. Retrieved June 30, 2020, from https://www.edutopia.org/article/how-boost-students-sense-optimism
Apirada, M. (2020, June 10). 7 ชุดความคิดพลิกห้องเรียน: 3. ชุดความคิดเชิงบวก. Retrieved June 30, 2020, from https://bookscape.co/positivity-mindset-03
คิดบวก ส่งผลดีต่อสุขภาพอย่างไร? Retrieved June 30, 2020, from https://www.pobpad.com