Knowledge

6 วิธีเชื่อมความสัมพันธ์ครู-นักเรียน ที่สามารถทำได้ในรูปแบบออนไลน์

6 วิธีเชื่อมความสัมพันธ์ครู-นักเรียน ที่สามารถทำได้ในรูปแบบออนไลน์

 2 years ago 35534

เอกปวีร์ สีฟ้า เรียบเรียง

         ครูและนักเรียนพบเจอกันผ่านทางหน้าจอสี่เหลี่ยมมาไม่ต่ำกว่า 4 เทอมแล้ว ถ้าพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนนั้นคงต้องยอมรับว่าคงไม่ได้ใกล้ชิดเหมือนแต่ก่อน ครูหลายท่านก็คงจะหาวิธีปรับตัว ให้ครูกับเด็กเชื่อมต่อกันติด เพราะความสัมพันธ์ในห้องเรียนออนไลน์สำคัญ ดังที่ อาจารย์จ๊อย ปวีณา แช่มช้อย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งก่อการครู ได้ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจว่า “สิ่งสำคัญที่สุดคือ relationship (ความสัมพันธ์) และ connection (การเชื่อมโยง) ระหว่างอาจารย์กับผู้เรียน ผู้เรียนกับบทเรียนของตัวเอง และผู้เรียนกับวิธีการที่เขาเรียนอยู่ ถ้าเขาเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความหมายกับตัวเขาเมื่อไหร่ เขาเรียนได้ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใดก็ตาม”

แล้วครูจะสร้างความสัมพันธ์ผ่านห้องเรียนออนไลน์ได้อย่างไรบ้าง
1.เปลี่ยนการทักทายกันให้แลดูว้าว
         จากเดิมที่มักจะใช้การทักทายสวัสดี เช็กชื่อปกติ ครูสามารถกำหนดธีมแต่ละสัปดาห์ให้หลากหลาย เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและแปลกใหม่ไปจากกิจวัตรปกติ เช่น วันนี้เราจะทักทายกันด้วยภาษาอื่นกันบ้าง หรือจัดเป็นกิจกรรมทักทายให้นักเรียนในแต่ละห้องคิดรูปแบบการทักทายแล้วแข่งกันว่าการทักทายของห้องไหนเจ๋งที่สุด
2.ก่อนเริ่มคาบให้ชวนคุยก่อน
         ครูอาจจะเปิดห้องเรียนออนไลน์ไว้ก่อนเวลาเรียนสักเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นช่วงพูดคุย สร้างความคุ้นเคยกับนักเรียน ก่อนจะเริ่มเข้าเนื้อหาให้ชวนนักเรียนพูดคุยถึงประเด็นสนทนาทั่วไป อาจจะเป็นคำถามว่า “วันนี้เป็นอย่างไรบ้าง” “เสาร์-อาทิตย์นี้นี้มีแพลนจะทำอะไรบ้าง” หรืออาจจะชวนพูดคุยเกี่ยวกับเกม เพลง กีฬา ภาพยนตร์ และสิ่งอื่น ๆ ที่นักเรียนกำลังให้ความสนใจอยู่ นอกจากจะเป็นการละลายพฤติกรรม กระตุ้นให้นักเรียนพร้อมเรียนแล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่ครูจะได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนจากคำตอบของพวกเขา ซึ่งจะทำให้ครูสามารถกำหนดทิศทางการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้นอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การออกแบบกิจกรรมไปจนถึงการประเมินการเรียนรู้
3.สร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง
         ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ครูสวมบทบาทเป็นแม่ค้าออนไลน์ ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนกลายเป็นการ “เรียนปนเล่น” ซึ่งวิธีนี้เป็นไอเดียของครูคนหนึ่งในโรงเรียนบ้านค่าย จังหวัดนราธิวาส ผู้ชื่นชอบการดูไลฟ์สดขายของ โดยอาศัยการสอนร่วมกันของครู 3 คน รับส่งมุก สร้างเสียงหัวเราะ สร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง นักเรียนเรียนรู้ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมีความสุข ได้รับทั้งความรู้และความสนุกในเวลาเดียวกัน ครูเองก็มีกำลังใจที่จะสอนต่อ
4.เปิดหน้ากล้องเพื่อสบตากันบ้าง
         ครูควรจะเปิดกล้องมาพูดคุยกับนักเรียนก่อน จากนั้นค่อยขอความร่วมมือจากนักเรียน หากใครสะดวก พร้อมที่จะเปิดกล้องก็ให้เปิดมานั่งเรียนไปด้วยกัน ครูทำได้แค่เชิญชวนให้นักเรียนทำ แต่ไม่สามารถบังคับให้ทุกคนเปิดได้ เนื่องจากความพร้อมของนักเรียนแต่ละคนนั้นมีไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การเปิดหน้ากล้องของนักเรียนจะทำให้ครูสามารถสังเกตได้ว่านักเรียนยังเรียนไหวอยู่ไหม หลุดโฟกัสไปหรือยัง ทำให้ครูสามารถปรับการสอนเพื่อดึงนักเรียนกลับเข้ามาสู่บทเรียนได้
5.เปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำกิจกรรมเอง
         ในการอภิปราย ครูไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์กลางของการอภิปรายเสมอไป แต่สามารถให้นักเรียนได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการดำเนินกิจกรรมหรือแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองด้วย เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เล่าเรื่องที่พวกเขารู้สึกสบายใจที่จะพูดคุย โดยอาจจะให้เด็ก ๆ เสนอหัวข้อ จากนั้นครูค่อยเลือกบางหัวข้อให้พวกเขาอภิปรายร่วมกัน การสนทนาในรูปแบบนี้จะช่วยให้นักเรียนได้ฝึกพูด รับฟังเพื่อน และที่สำคัญครูยังได้ทำความรู้จักนักเรียนเพิ่มมากขึ้น
6.ทำความเข้าใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่นักเรียนทำ
         ถ้าครูรู้รายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมที่นักเรียนกำลังให้ความสนใจอยู่ และใส่ใจนักเรียน สิ่งนี้จะทำให้นักเรียนรับรู้ได้ว่าครูให้ความสำคัญกับพวกเขา ซึ่งจะทำให้พวกเขาเชื่อใจครู และกล้าปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าครูรู้ว่านักเรียนจะต้องสอบผ่านระบบ TCAS แล้วศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบนี้ และร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน นักเรียนก็จะรู้สึกว่าครูทุ่มเทเพื่อพวกเขา

         จากที่นำเสนอไปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียนนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี สิ่งที่สำคัญคือครูต้องคำนึงและปรับให้เข้ากับผู้เรียนของตน หากครูทำได้ ห้องเรียนออนไลน์ก็จะมีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนกระชับแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้น!

แหล่งอ้างอิง
Meyer, D. (2019, May 2). 3 powerful teaching strategies for connecting with your students. Elmhurst University. https://www.elmhurst.edu/blog/teaching-strategies-connecting-with-students/

Springnews. (2565, 12 มกราคม). 4 เทคนิคการเรียนยุคโควิด-19 สนุก ได้ความรู้ กระตุ้นความสัมพันธ์ครูนักเรียน. https://www.springnews.co.th/blogs/spring-life/819957

Banoo is my name. (2563, 31 ตุลาคม). The best Say Hi. Inskru. https://inskru.com/idea/-MKyc9_7zz4IhaMbXPU8


Provenzano, N. (2014, February 24). 3 ways to make meaningful connections with your students. Edutopia. https://www.edutopia.org/blog/make-meaningful-connections-with-students-nick-provenzano

Milner, H. R. ,IV. (2011). Five easy ways to connect with students. Harvard Education Letter. https://www.hepg.org/hel-home/issues/27_1/helarticle/five-easy-ways-to-connect-with-students_492

ปริณดา แจ้งสุข. (2564, 27 ตุลาคม). 7 ข้อคิด สอนออนไลน์ให้สนุก เคล็ดลับดีๆ จากอาจารย์สาธิตจุฬาฯ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. https://www.chula.ac.th/highlight/51722/


อรสา ศรีดาวเรือง. (2563, 22 เมษายน). หนูไม่เข้าใจ ครูสอนอะไร Teach from home อย่างไร ครูกับเด็กยังใกล้ เข้าใจและไม่ง่วง. Leadership for the Future. https://www.leadershipforfuture.com/learning-teach-from-home/


TAG: #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #โรคระบาดใหญ่ #COVID-19 #โควิด19 #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #จิตวิทยาการปรึกษา #จิตวิทยาสังคม