Knowledge

จากครูผู้สอนเป็นครูผู้ฟัง : ของขวัญวาเลนไทน์ปีนี้ มอบช่วงเวลา “รับฟัง” ให้กัน

จากครูผู้สอนเป็นครูผู้ฟัง : ของขวัญวาเลนไทน์ปีนี้ มอบช่วงเวลา “รับฟัง” ให้กัน

 2 years ago 3575

จิราเจต วิเศษดอนหวาย เรียบเรียง

          ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เวียนมาอีกครั้งพร้อมบรรยากาศของความรักความปรารถนาดี หลายท่านคงอาจจะนึกถึงกิจกรรมการแสดงออกถึงความรัก การส่งมอบความปรารถนาดีในชีวิตจริง แต่หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับครูหรือครูกับนักเรียนเปลี่ยนบริบทไป จากห้องเรียนสู่พื้นที่ออนไลน์ จากการทำกิจกรรมร่วมกันไปสู่การเว้นระยะห่าง บทความนี้จึงอยากจะชวนทุกท่านมาร่วมฉลองวันวาเลนไทน์แบบปกติใหม่ (new normal) ด้วยกิจกรรมมอบของขวัญสุดพิเศษที่เรียกว่า “ช่วงเวลารับฟัง”

          เพราะเหตุใดเมื่อมีคนรับฟังเราแล้วทำให้รู้สึกสบายใจ? รศ.ดร.สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา กล่าวว่าการฟังเป็นการสร้างสายใยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การถูกรับฟังคือการถูกมองเห็น ได้รับคุณค่าและให้ความเคารพ การฟังจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเปลี่ยนแปลง เกิดเป็นการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน อีกทั้งการฟังยังเป็นอีกหนึ่งสมรรถนะที่สำคัญของครูมืออาชีพที่ช่วยให้สามารถโอบอุ้มตนเอง เพื่อนครู และนักเรียนในช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและการสูญเสียในช่วงโควิดได้
          นอกจากนี้ นพ.สกล สิงหะ จากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยยังกล่าวถึงข้อดีของการถูกรับฟังไว้ว่า เมื่อเราเริ่มเล่า เมื่อเขารับฟัง จะเป็นจุดเริ่มต้นการเติมเต็มความต้องการพื้นฐานของมนุษย์นั่นคือ ความปลอดภัยจากการถูกตัดสิน เมื่อมนุษย์ได้รับการเติมเต็มก็จะนำไปสู่การแบ่งปันและร่วมมือกันในการฝ่าฟันอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่ได้เทคนิคการรับฟังนั้นมีหลากหลายวิธี เปรียบเสมือนของขวัญที่มีรูปทรงสีสันแตกต่างกันไปจึงต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้รับ

          ในวันนี้จึงนำเทคนิคการฟัง 2 รูปแบบให้ครูสามารถเลือกนำไปมอบให้กับคนที่รัก
          เทคนิคแรกคือ “การฟังอย่างตั้งใจ (deep listening)” เป็นการฟังที่ใช้เพียงสติรู้ตัวของผู้ฟังที่จะไม่พูดแทรกและจดจ่ออยู่กับการรับฟัง จุดมุ่งหมายเทคนิคนี้คือการให้ผู้พูดได้แบ่งปันความรู้สึกและเล่าเรื่องราวโดยไม่ถูกตัดสิน ชี้นำ หรือรีบเร่งหาทางออก เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่เป็นช่วงเวลาจำกัดเช่น ต้นชั่วโมงก่อนเริ่มเรียนในแต่ละคาบ การพูดคุยช่วงพักเที่ยง หรือช่วงเวลาฉุกเฉิน เช่น นักเรียนเพิ่งประสบกับเหตุการณ์สูญเสีย เพื่อนครูหลังหมดคาบเรียน เทคนิคนี้เหมาะที่จะเป็นของขวัญมอบให้กันบ่อย ๆ แม้จะเล็กน้อยแต่น่าจะช่วยสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นให้เกิดขึ้นทั้งในจอและนอกจอการจัดการรู้
          เทคนิคที่สองคือ “การฟังอย่างเข้าใจ (empathic listening)” คือการฟังอย่างเปิดใจด้วยความตั้งใจเพื่อเข้าใจประเด็นที่ผู้พูดต้องการสื่อและรับรู้ความรู้สึกของผู้พูด โดยต้องสังเกตสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูดออกมา เช่น น้ำเสียง สีหน้า และภาษากายของผู้พูด ที่อาจจะสื่อสารได้มากกว่าถ้อยคำที่พูดออกมา เทคนิคนี้มีหลักการจำขั้นตอนง่าย ๆ ด้วยอักษรย่อ RASA ได้แก่ Receive รับฟังสารที่ผู้ส่งสารต้องการให้ถูกรับฟัง Appreciate ฟังด้วยสติ รู้สึกยินดีกับสิ่งที่ฟัง Summarize จับใจความและสาระสำคัญ Ask ส่วนไหนที่สงสัยให้ถาม ท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าขั้นตอนที่เพิ่มมาจากเทคนิคการฟังแรกคือการตั้งคำถาม เทคนิคนี้จึงเหมาะกับการพูดคุยรับฟังเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาบนความต้องการของทั้งสองฝ่าย จึงต้องอาศัยเวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที และอยู่ในบรรยากาศผ่อนคลาย สถานการณ์ที่น่านำเทคนิคนี้ไปใช้ เช่น เพื่อนครูนัดพูดคุยเพื่อหาทางออกจากการหมดไฟในการออกแบบการเรียนรู้ในวันหยุดสุดสัปดาห์ในร้านกาแฟหรือสวนสาธารณะ เทคนิคการฟังอย่างเข้าใจ จึงเปรียบได้กับของขวัญชิ้นใหญ่ที่มีความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ

          การฟังเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และคุณค่าอย่างยิ่งเพราะการรับฟังกันและกันช่วยผ่อนความเครียดเกิดเป็นความสบายใจและสภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคง นำไปสู่การร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนแห่งความรัก EDUCA อยากชวนให้ตระหนักว่าครูเป็นคนสำคัญ หากถามว่าใครควรเป็นคนแรกที่คุณครูควรมอบช่วงเวลารับฟังเป็นของขวัญ คนนั้นก็คือตัวคุณครูเอง เพื่อจะได้มีพลังส่งต่อไปยังนักเรียนต่อไป

อ้างอิง
ธัญธิดา สาสุนทร. (2558, 29 มกราคม). Active Listening. https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/10182/

สกล สิงหะ. (2561, 20 มิถุนายน). อานุภาพของการ(ถูก)รับฟัง. Facebook. https://shorturl.asia/TdB3J


สิริพันธุ์ สุวรรณมรรคา. (2564, 20 ตุลาคม). ฟัง..ฟัง..ฟัง คลายทุกข์ เพิ่มสุขสมรรถนะสำคัญของ SEL. เข้าถึงจาก https://event.educathai.com/educa2021/online-workshop/2819

Nguyen, H. P. (2021, 14 October). The ‘how’ of building deeper relationships with students. https://www.edutopia.org/article/how-building-deeper-relationships-students


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #จิตวิทยาการปรึกษา #จิตวิทยาสังคม #ทักษะการฟัง #Deep listening #Empathic listening #การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ #โรคระบาดใหญ่ #COVID-19 #โควิด19