Knowledge
โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน : ศัตรูหรือมิตรแท้ของการเรียนรู้
2 years ago 21832สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม
ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ครูต้องเสาะหากิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบสื่อมือเพื่อนำมาสอนภายในห้องเรียน ซึ่งอาจไม่หลากหลายเท่ากับในปัจจุบัน อีกทั้งครูต้องหาแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติมอีก เช่น หนังสือ หรือสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญ แม้ว่าแหล่งเรียนรู้ออฟไลน์จำพวกหนังสือจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่กว่าจะอ่านจบแต่ละเล่มและสังเคราะห์ออกมาเป็นความคิดรวบยอดก็ใช้เวลานาน และอาจไม่ทันสำหรับการสอน ดังนั้น เมื่อเทคโนโลยีเป็นที่แพร่หลายแล้ว ครูและนักเรียนจึงมีแหล่งเรียนรู้มากขึ้น และสามารถทำกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ ผ่านการใช้โทรศัพท์เป็นสื่อการสอนอีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชั้นเรียนเป็นอย่างมากหากใช้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ แต่ในอีกมุมหนึ่งโทรศัพท์ก็มีโทษมากเช่นกันหากใช้ไม่ถูกวิธี
ประยุกต์ใช้โทรศัพท์มือถือในฐานะเครื่องมือช่วยให้เกิดการเรียนรู้
ประโยชน์แรกที่อาจเห็นได้ชัดในปัจจุบันสำหรับครู คือการใช้แอปพลิเคชันเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น การตอบคำถามร่วมกันทั้งชั้นเรียนผ่าน Kahoot! การระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดร่วมกันในชั้นเรียนผ่าน Jamboard หรือการจัดชั้นเรียนออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Google Classroom รวมถึงการใช้โทรศัพท์เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ประกอบกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การให้นักเรียนช่วยกันหาตัวอย่างหลักฐานในกิจกรรมการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์เพื่อนำมาอภิปรายร่วมกันในชั้นเรียน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยรวบรวมความคิดของนักเรียนภายในห้องเรียนให้เป็นระบบระเบียบและกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมภายในชั้นเรียน หรืออาจใช้ในขั้นสรุปเพื่อสรุปความรู้ภายในชั้นเรียนก็ได้เช่นกัน
ประโยชน์ข้อต่อมานี้ก็สำคัญมากสำหรับทั้งครูและนักเรียน นั่นคือแหล่งความรู้ออนไลน์ที่เปรียบเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ที่เปิดให้เราสามารถท่องโลกกว้างได้เพียงแค่ใช้แค่ไม่กี่คลิกบนโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว เช่น การเปิดดูคลิปวิดีโอที่เล่าประวัติศาสตร์โลกโดยย่อได้ หรือการเปิดดูเว็บไซต์ที่เป็นคลังความรู้เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมในการทำรายงาน หรือสืบค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาอภิปรายในห้องเรียน ทั้งนี้ แหล่งความรู้ออนไลน์นี้จะไม่มีประโยชน์ต่อชั้นเรียนเลย ถ้าครูไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้หาความรู้ภายนอกร่วมกันภายในชั้นเรียน และไม่สามารถควบคุมชั้นเรียนให้เป็นระเบียบ
ข้อควรระวังในการใช้โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน
ข้อเสียหลักประการหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ อาการวอกแวก ใจไม่อยู่กับบทเรียน ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการชั้นเรียนของครูว่าจะผสานเอาโทรศัพท์มือถือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร นักเรียนอาจสับสนจากการใช้โทรศัพท์สืบค้นข้อมูลในหัวข้อนั้น ๆ เพราะอาจเป็นหัวข้อที่ใหม่หรือซับซ้อนเกินไปสำหรับนักเรียน เช่น ประวัติศาสตร์สากล เศรษฐศาสตร์จุลภาค หรืออ่านบทความภาษาอังกฤษที่ไม่คุ้นเคย ประกอบกับนักเรียนอาจใช้โทรศัพท์ไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องขณะที่เรียนก็เป็นได้ ดังนั้น การที่ให้นักเรียนใช้โทรศัพท์สืบค้นข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้ โดยครูสามารถรับบทเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้นักเรียนให้นักเรียนใช้โทรศัพท์เพื่อสืบหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในห้องเรียน แทนที่จะรับบทครูฝ่ายปกครองคอยยึดโทรศัพท์ของนักเรียน และไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ผ่านโทรศัพท์เลย เพื่อให้การสืบค้นข้อมูลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การคอยเดินตรวจตรารอบห้องเรียนขณะที่นักเรียนกำลังสืบค้นและให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีนักเรียนต้องการความช่วยเหลือ
เทคโนโลยีปัจจุบันล้ำหน้าขึ้นทุกวันทำให้การเรียนรู้ในห้องเรียนนั้นทันสมัยมากขึ้นด้วย หากครูสามารถใช้ประโยชน์ ของเทคโนโลยีทำลายขีดจำกัดการเรียนออฟไลน์แบบเดิม ๆ ได้จะเปิดโลกให้นักเรียนและครูพบเจอกับสิ่งที่ห้องเรียนออนไลน์ช่วยให้เกิดขึ้นได้ เช่น แหล่งเรียนรู้จากอีกฟากหนึ่งของโลก หรือนวัตกรรมการเรียนรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันครูจำเป็นต้องลดโอกาสที่นักเรียนจะใช้โทรศัพท์ไปทำกิจกรรมอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน เพื่อดึงให้นักเรียนยังอยู่ในชั้นเรียน และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จริง
แหล่งอ้างอิง
Klein, C. (2022, April 14). Guiding students to develop a clear understanding of their cell phone use. Edutopia. https://www.edutopia.org/article/guiding-students-develop-clear-understanding-their-cell-phone-use
Oxford Learning. (2019, April 22). Should cell phones be allowed in classrooms?. https://www.oxfordlearning.com/should-cell-phones-be-allowed-classrooms/
PISA THAILAND. (2562, 5 มิถุนายน). เทคโนโลยีการสื่อสารกับการเรียนรู้. https://pisathailand.ipst.ac.th/issue-2019-42/