Knowledge

จัดการเรียนรู้ด้วย PERMAH นักเรียนสุขกาย สุขใจ อย่างยั่งยืน

จัดการเรียนรู้ด้วย PERMAH นักเรียนสุขกาย สุขใจ อย่างยั่งยืน

 4 years ago 4457

เรียบเรียง: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ

          การศึกษาทำความเข้าใจการเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยยึดตามความถนัด และความสามารถของผู้เรียนเป็นหลักนั้น ได้ถูกนำมาประยุกต์หลักจิตวิทยาเชิงบวกเข้ากับรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยอาศัยบทบาทครู และนักเรียนในการช่วยบรรเทา และป้องกันปัญหาอาการเครียด หรืออาการซึมเศร้าในกลุ่มนักเรียน และสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจให้สามารถดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่แข็งแรงมีความสุขในชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยหลักการ “PERMAH” ที่ประกอบไปด้วย P – Positive Emotions, E – Engagement, R – Relationships, M – Meaning, A – Accomplishment และ H – Health ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดในส่วนถัดไป

“PERMAH frameworks หลักการจัดการเรียนรู้เชิงบวกที่มุ่งเน้นความสุขควบคู่ความสามารถ”
หลักการดังกล่าวประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 6 ประการ ดังนี้
ประการแรก การจัดการอารมณ์และการแสดงอารมณ์เชิงบวก (Positive Emotions) เช่น การแสดงความรู้สึกยินดีเมื่อตนเองหรือเพื่อนทำในสิ่งที่ดี ความหวังที่จะปฏิบัติตนให้ดีขึ้น ความสนใจในเรื่องที่เป็นประโยชน์และทำให้ตนเองรวมทั้งผู้อื่นมีความสุข

ประการที่สอง การยึดมั่นและมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตนทำ (Engagement)
นักเรียนมีความตั้งใจและพยายามในการทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยศักยภาพของตนเองอย่างไม่ย่อท้อแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะท้าทายความสามารถตนเองแค่ไหนก็ตาม

ประการที่สาม ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ (Positive Relationships)
คือนักเรียนได้เรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมเวลาอยู่ร่วมกับผู้อื่น

ประการที่สี่ อุดมการณ์และความหมายของการดำเนินชีวิต (Meaning)
หมายถึง นักเรียนเข้าใจความต้องการของตนเอง อีกทั้งมีความคาดหวังในการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าในแบบของตนเองโดยไม่เปรียบเทียบกับผู้อื่น

ประการที่ห้า การมุ่งหวังสู่ความสำเร็จ (Accomplishment)
นักเรียนรู้จักตั้งเป้าหมาย วางแผนและค้นหาแนวทางวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมายของตนเองได้อย่างเหมาะสม

ประการที่หก สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง (Health)
ว่าด้วยเรื่องการดูแลสุขอนามัยของนักเรียน เช่น การป้องกันรักษาสุขภาพ การนอนหลับ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและถูกวิธี เป็นต้น

          ทั้งนี้หลักการ 6 ประการที่กล่าวมาในข้างต้นนั้นล้วนมีความเกี่ยวพันครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้ ทักษะวิชาการและการดำรงชีวิต ซึ่งครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ออกแบบการจัดการเรียนรู้ และเลือกใช้วิธีการถ่ายทอดสาระสำคัญได้ตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงสภาพบริบทที่เฉพาะตัวของชั้นเรียน และนักเรียนของตนเป็นสำคัญในการปรับใช้ให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

“ประยุกต์ใช้ ‘PERMAH’ ในทางปฏิบัติอย่างไรให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ”
          การนำหลักการ PERMAH frameworks มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนและห้องเรียนให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพนั้น สามารถทำได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตามองค์ประกอบทั้ง 6 ประการของหลักการ ได้แก่
ประการแรก หลักการที่ว่าด้วยการจัดการอารมณ์และการแสดงอารมณ์เชิงบวก (Positive Emotions) การสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกในโรงเรียน การรณรงค์ต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแกกัน การจัดศูนย์การเรียนรู้ร่วมกัน กิจกรรมการเรียนรู้แบบเพื่อนช่วยเพื่อนและฝึกคิดแบบ Growth Mindset กิจกรรมสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นตัวของตัวเอง รู้จักเคารพผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เป็นต้น

ประการที่สอง การยึดมั่นและมีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตนทำเชิงบวก (Engagement) เช่น กิจกรรมจับกลุ่มสอนการบ้านและอ่านหนังสือระหว่างเพื่อน การสัมมนา แนะแนวทักษะการเรียนรู้ การจัดทำแผนการเรียนรู้ส่วนบุคคล หรือ Personal Learning Plan (PLP) การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อย่างถูกวิธี และกิจกรรมชมรมตามความถนัด เป็นต้น

ประการที่สาม ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ (Relationships) โดยการจัดกิจกรรมภายในโรงเรียนที่มีลักษณะหลากหลายเปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจัดกิจกรรมให้คำปรึกษาแบบกลุ่มระหว่างกลุ่มเพื่อนและครู กิจกรรมเข้าค่ายและกิจกรรมกลุ่มหรือชมรมต่างๆ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ และปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นท่ามกลางความหลากหลายได้ เป็นต้น

ประการที่สี่ อุดมการณ์และความหมายของการดำเนินชีวิตเชิงบวก (Meaning/Purpose) โดยจัดการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการทำโครงงาน ร่วมกันคิด และค้นหาความหมายและคุณค่าในชีวิตของตน การทำงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังแนวคิดของผู้อื่น กิจกรรมทำงานอาสาและทำงานกุศลช่วยเหลือสังคมเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม เป็นต้น

ประการที่ห้า การมุ่งหวังสู่ความสำเร็จเชิงบวก (Accomplishment) ได้แก่ กิจกรรมสร้างเสริมภาวะผู้นำ ชมรมและกิจกรรมสร้างเสริมนอกหลักสูตร การเรียนรู้จากการสะท้อน (feedback) บทเรียน หรือ กระบวนการ และความรู้สึกหลังจากทำกิจกรรมต่างๆ สำเร็จลุล่วง

และประการที่หก การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง (Health) การวางแผนสร้างเสริมสุขอนามัยที่ดี การเล่นกีฬา การให้คำปรึกษาปัญหาต่าง ๆ แก่นักเรียนและวิธีการป้องกันหลีกเลี่ยงภัยใกล้ตัวขั้นพื้นฐาน

          อย่างไรก็ตาม ลักษณะนิสัยเชิงบวกของนักเรียนนั้นไม่อาจเกิดขึ้นเองได้แต่อย่างใด หากแต่เกิดจากการเรียนรู้ผ่านการอบรมเลี้ยงดู และสนับสนุนจากคนรอบข้าง เช่น ครู ผู้ปกครอง ครอบครัวและเพื่อน ทั้งสิ้น ดังนั้นเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้โดยส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนาบุคลิก ลักษณะนิสัยในเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพ และการเรียนรู้ตามความสามารถ ตามความถนัดได้อย่างมีความสุข โดยนำเอาหลักการ PERMAH มาปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อสนับสนุนให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทางด้านวิชาการ และการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืนในอนาคต

ที่มา:
Catherine Moore, Psychologist, MBA. (2020). What is Positive Education, and How Can We Apply It?. วันที่เข้าถึงข้อมูล 13 สิงหาคม 2563 จาก Positive Psychology.com: https://positivepsychology.com/what-is-positive-education/

Photo by Hybrid on Unsplash


TAG: #จิตวิทยาเชิงบวก #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #การจัดการชั้นเรียน