Knowledge

การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสภาวะทางอารมณ์ร่วมกัน...ครูและนักเรียนมีความสุข ห้องเรียนก็มีความสุข

การจัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสภาวะทางอารมณ์ร่วมกัน...ครูและนักเรียนมีความสุข ห้องเรียนก็มีความสุข

 4 years ago 28205

เรียบเรียง นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: นัชชา ชัยจิตรเฉลา

          การศึกษา และการเรียนรู้อย่างมีความสุขตามความสามารถความถนัดของนักเรียน ไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงความรู้สึก สุขภาพจิตใจ และทัศนคติในการเรียนรู้ของนักเรียนเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพจิตใจ และความสุขของครูผู้สอนอีกด้วย เนื่องจากการวิจัยหลายชิ้นพบว่า อารมณ์ และความรู้สึกของครูผู้สอนส่งผลต่อความรู้สึกของนักเรียนในห้องเรียนรวมทั้งความสุขในการเรียนรู้วิชานั้นๆโดยตรง ในขณะเดียวกันหากบทบาทของครูต้องทำหน้าที่ที่หลากหลาย ทั้งการจัดเตรียมการสอนให้มีคุณภาพการสร้างบรรยากาศการเรียนที่ดีที่ช่วยให้นักเรียนมีความสุขมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และการจัดการห้องเรียนที่มีนักเรียนอยู่มากมายให้อยู่ในสภาวะที่พร้อมต่อการเรียนรู้ ด้วยขอบเขตของหน้าที่ของครูที่ค่อนข้างซับซ้อน และหลากหลาย ทำให้ครูผู้สอนเองต่างก็ประสบกับความเครียดพอสมควร ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนย่อมดำเนินไปด้วยความตึงเครียดไม่มากก็น้อยเช่นเดียวกัน

“ความสำคัญของกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เชิงบวกเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาสภาวะอารมณ์”
          การเรียนรู้สภาวะทางอารมณ์ และสังคมมักถูกพูดถึงไม่บ่อยนักในการจัดการเรียนรู้ และระบบการศึกษา แม้ว่าจะมีความสำคัญ และถือเป็นเรื่องพื้นฐานในการดำรงชีวิตก็ตาม ทั้งนี้ การสอดแทรกความรู้เรื่องการจัดการควบคุมอารมณ์อย่างถูกวิธี กิจกรรมการพัฒนาสภาวะทางอารมณ์ และการเรียนรู้ได้มีการประยุกต์ใช้หลักการจิตวิทยาเชิงบวก เช่น การตั้งคำถามต่อความสุขของนักเรียนแต่ละคนว่าอะไรคือสิ่งที่นักเรียนทำแล้วมีความสุข การรู้จักแสดงความยินดี และความรู้สึกที่ดีต่อผู้อื่นเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ และการแสดงออกทางอารมณ์ผ่านงานศิลปะ การเขียน การเคลื่อนไหวของร่างกาย และการแสดงออกผ่านทางสีหน้าที่เหมาะสม เป็นต้น
          นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ ที่สนับสนุน และเสริมสร้างการเรียนรู้ทางด้านอารมณ์ ได้แก่ การประชุมตอนเช้าหรือคาบเรียนโฮมรูม เพื่อชี้แจงข้อมูลข่าวสารสำคัญ ทำกิจกรรม และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครู และนักเรียน อีกทั้งการให้ทางเลือกในการเรียนรู้ การทำงาน และการบ้านที่หลากหลายเหมาะสมกับทักษะ และความถนัดของนักเรียนมากยิ่งขึ้น จะช่วยให้นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้ และการทำงาน รู้จักความสามารถ และพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

“การจัดการเรียนรู้เชิงบวก การเฝ้าติดตามและประเมินการพัฒนาสภาวะทางอารมณ์ของตนเอง”
          สำหรับครูที่มีความพร้อม และสนใจนำหลักการเรียนรู้อย่างมีความสุขตามความถนัดของผู้เรียนไปปรับใช้กับการจัดการเรียนรู้แล้วนั้น สามารถเริ่มต้นจากการนำเอากิจกรรมหรือแบบฝึกหัดอย่างง่ายไปประยุกต์ใช้ ซึ่งตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จและได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ได้แก่
1). แผนผังรายงานสภาพจิตใจและอารมณ์ประจำวัน (Daily Mood Chart) ที่ช่วยให้นักเรียนได้เฝ้าติดตามอารมณ์ของตนเองที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวัน ซึ่งช่วยให้นักเรียนสังเกตและเข้าใจสาเหตุที่มาของอารมณ์ตนเองในเชิงสำรวจตนเองมากยิ่งขึ้น ด้วยวิธีการดังกล่าว จะช่วยให้การพัฒนาสภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของนักเรียนในห้องเรียนเป็นรูปธรรมและเข้าใจการเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น
2). ใบงานความรู้ว่าด้วยขั้นตอนของการอยู่ดีมีสุขอย่างสร้างสรรค์ เป็นการอธิบายถึงขั้นตอนอย่างง่ายในการปฏิบัติตัว การคิดและมีทัศนคติที่จะช่วยให้การเรียนรู้ และการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น เช่น การฝึกการคิดและการมองโลกในแง่ดี เป็นเหตุเป็นผล การออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อน และแนวทางใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น ทั้งนี้ครูจะแจกใบงานความรู้ดังกล่าวให้แก่นักเรียนหรือติดในที่ที่นักเรียนสามารถมองเห็นและอ่านได้ตลอดเวลา
3). ใบงาน ‘จงบอกสิ่งที่ดีที่เกิดขึ้นกับตนเอง 3 สิ่งในแต่ละวัน’ (Three Good Things) โดยให้นักเรียนเขียนระบุสถานการณ์พร้อมเหตุผลที่ทำให้ตนเองรู้สึกมีความสุขในแต่ละวันเพียง 3 ข้อ หลังจากนั้นก็ทำการสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และหากต้องการให้เรื่องดี ๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต นักเรียนเรียนรู้ว่าจะต้องทำอะไรเพื่อให้สิ่งที่ดีเหล่านั้นเกิดขึ้นได้อีกครั้ง วิธีการที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากจะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแล้วนั้น ยังช่วยฝึกทักษะการวิเคราะห์และสังเคราะห์เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันอีกด้วย

“กิจกรรมกลุ่มเพื่อการพัฒนาความคิดและการจัดการอารมณ์ระหว่างครู-นักเรียน”
          นอกจากเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ และการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขแล้วนั้น การให้คำแนะนำ และการชี้แนะแนวทางของครูและครอบครัวต่อการพัฒนาความคิด และการจัดการอารมณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ นักเรียนจะได้เรียนรู้และปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น

          สำหรับเทคนิค และแนวทางในการจัดการอารมณ์ และพัฒนาความคิดให้แก่เด็กนักเรียนช่วงวัยรุ่น สามารถทำได้ด้วยการนำเอาหลักการจิตวิทยาเชิงบวกมาประยุกต์ใช้ ดังนี้ การค้นหาจุดเด่นจุดแข็งของนักเรียน (การเชิญชวนให้นักเรียนบอกเล่าข้อดีหรือพฤติกรรมที่ดีที่ชื่นชมในตัวเพื่อนนักเรียนพร้อมทั้งเหตุผล การเขียนโน้ตชื่นชมกันและกันติดที่บอร์ดประกาศ ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะเพิ่มเติมโดยการเชิญชวนให้ครู ผู้ปกครองได้กล่าวถึงสิ่งที่ดีสิ่งที่ชื่นชมในตัวนักเรียน) ส่งเสริมนักเรียนให้ฝึกฝน และนำทักษะจุดแข็งของตนเองมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ครูอาจมอบหมายให้นักเรียนในห้องเรียนบางส่วนให้สังเกตการณ์จุดเด่นจุดแข็งของเพื่อนร่วมชั้นโดยไม่เปิดเผยตัวตนและทำการรายงานให้ครูทราบเมื่อถึงกำหนดได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น การเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เขียนจดหมายชื่นชมเพื่อนที่มีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ในทางที่ดีขึ้น และนำจดหมายเหล่านั้นมาอ่านให้เพื่อนร่วมชั้นได้ฟังพร้อมกัน จะยิ่งทำให้นักเรียนผู้ที่พยายามปฏิบัติตัวดีขึ้น หรือเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอดเหล่านั้นรู้สึกภาคภูมิใจและพยายามรักษาจุดเด่นหรือพฤติกรรมดีของตนเองไว้อย่างยาวนานและยั่งยืนยิ่งขึ้น

          การเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้แสดงออก และมีส่วนร่วมในการสร้างข้อตกลงและนำเอารูปแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้กับการเรียนรู้บูรณาการควบคู่กับการจัดการพฤติกรรม และอารมณ์ของนักเรียน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการวางแผนเปลี่ยนแปลง และพัฒนาพฤติกรรมของตนเองให้ดียิ่งขึ้นร่วมกันจะช่วยลดความซับซ้อนในงานสอน และควบคุมดูแลพฤติกรรมนักเรียนของครูลงได้ไม่มากก็น้อย ทำให้ครูมีเวลาในการทำความเข้าใจ พูดคุยและให้คำปรึกษาแก่นักเรียนภายในเวลาที่จำกัดได้อย่างสร้างสรรค์และมีความสุขมากยิ่งขึ้น เมื่อครูมีความสุข นักเรียนก็จะรู้สึกมีความสุข ไม่เครียดไม่กดดันหรือรู้สึกถูกบังคับมากเกินไป เมื่อเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้เสนอความเห็น ได้ร่วมวางแนวทางแบบแผนกิจกรรมพัฒนาตนเองที่ตอบสนองความต้องการและเป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครูผู้สอนได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ที่มา

Joaquín Selva, Bc.S., Psychologist. (2020). Positive Psychology In Schools and Education For Happy Students. วันที่เข้าถึงข้อมูล 11 สิงหาคม 2563 จาก Positive Psychology.com: https://positivepsychology.com/positive-education-happy-students/


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #การจัดการชั้นเรียน #กิจกรรมพัฒนาสภาวะทางอารมณ์