Knowledge
การเสริมแรงเชิงบวกในห้องเรียน...การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักเรียน
4 years ago 81195ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
เมื่อพูดถึงการเสริมแรงเชิงบวกกับการปรับเปลี่ยน และพัฒนาพฤติกรรมของนักเรียนแล้วนั้น การเข้าใจหลักการของการเสริมแรงเชิงบวกเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงได้แน่นอน ดังนั้น ความเข้าใจหลักการการเสริมแรงเชิงบวกจึงควรมาพร้อมกับแผนงาน แนวทาง ขั้นตอน กระบวนการ หรือวิธีการที่จะนำการเสริมแรงเชิงบวกไปประยุกต์ใช้กับนักเรียน ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม
“เทคนิคการเสริมแรงเชิงบวกในห้องเรียน ปรับพฤติกรรม...พัฒนาการเรียนรู้”
การเสริมแรงเชิงบวกเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในฐานะวิธีการอบรมเลี้ยงดู รวมทั้งปรับพฤติกรรมเด็กที่มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะยุติกระบวนการเสริมแรงเชิงบวกไปแล้วก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับการใช้การเสริมแรงเชิงบวกในห้องเรียน พบว่าช่วยปรับพฤติกรรมของนักเรียนให้เหมาะสมกับช่วงวัย มีทักษะในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และมารยาททางสังคมที่ดีมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างที่มักพบได้บ่อยครั้ง ในการใช้การเสริมแรงเชิงบวกในห้องเรียน ได้แก่ การใช้ดาวเป็นสัญลักษณ์แทนการชื่นชมหรือแทนรางวัลของการทำดี การกระตุ้นให้นักเรียนสะสมดาวเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนทำสิ่งที่ดีแสดงพฤติกรรมที่ดี หรือแม้แต่การใช้ลูกอม ขนม รวมทั้งการเลือกใช้สติ๊กเกอร์สี และสติ๊กเกอร์รูปร่างลักษณะต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงการชมเชย ยกย่อง ให้กำลังใจนักเรียนในการทำพฤติกรรมที่ดีต่อไป เป็นต้น
การเสริมแรงเชิงบวกช่วยให้การจัดการบรรยากาศชั้นเรียนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมให้นักเรียนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงแรงกดดัน หรือความเครียดอันเกิดจากอิทธิพลด้านลบของพฤติกรรมกลุ่ม เช่น การโดนล้อหรือรังแกด้วยคำพูด และร่างกายให้เกิดความอับอาย ทำให้ไม่กล้าแสดงออกหรือกระทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ เป็นต้น University of Minnesota’s College of Education and Human Development (2016) ได้นำเสนอแนวทาง และเทคนิคการเสริมแรงเชิงบวกให้ครูผู้สอนผู้อบรม และพัฒนานักเรียนสามารถนำไปใช้ปรับพฤติกรรม และพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดียิ่งขึ้น
การใช้การเสริมแรงเชิงบวกให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องคำนึงถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมแก่การนำไปใช้ ซึ่งก็คือช่วงเวลาหลังจากครูได้ทำการสังเกต และมีข้อมูลด้านพฤติกรรมของนักเรียนที่เพียงพอ เข้าใจสาเหตุ และแนวโน้มของนักเรียนแต่ละคนในการเลือกแสดงพฤติกรรม หลังจากนั้นจึงเริ่มตั้งคำถามชวนคิด และขอความคิดเห็นจากนักเรียนเกี่ยวกับลักษณะพฤติกรรมที่ดีที่เหมาะสมในมุมมองของพวกเขา สามารถต่อยอดนำไปสู่การพูดคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดีที่เป็นที่ยอมรับในสังคมเพื่อนำเสนอตัวอย่างที่เหมาะสมให้แก่นักเรียน รวมทั้งข้อดีข้อเสียของการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม และนำเสนอแนวทางในการปฏิบัติตนเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีเป็นที่ยอมรับยิ่งขึ้น
ครูจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างข้อตกลงร่วมกันภายในห้องเรียนเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกคน ในการระมัดระวังพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเอง ปรับใช้วิธีการเสริมแรงเชิงบวกเพื่อสนับสนุน และแนะนำแนวทางให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ทำการติดตาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นรวมทั้งให้กำลังใจกับความพยายามของนักเรียน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองในท้ายที่สุด หลังจากใช้วิธีการเสริมแรงเชิงบวกใดๆ ไปแล้วก็ตาม ครูจะต้องทำการประเมินผลว่าวิธีการที่ได้ใช้ไปแล้วนั้น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่ ผลลัพธ์ที่ได้ประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมก่อน และหลังการใช้วิธีการเสริมแรงเชิงบวก ถ้าได้ผลที่ไม่น่าพึงพอใจจะต้องปรับแก้ที่จุดไหน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การเสริมแรงเชิงบวกในห้องเรียนให้ประสบผลสำเร็จเริ่มจากความเข้าใจลักษณะนิสัยและข้อมูลสำคัญพื้นฐานของนักเรียนตนเองนำมาสู่การวางแผนการใช้วิธีการเสริมแรงที่เหมาะสม การสื่อสารที่ชัดเจน รักษาคำสัญญาที่จะให้รางวัลเมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ดีเป็นที่น่าพึงพอใจตามที่ได้ตกลงกันไว้ควบคู่กับการใช้การเสริมแรงหรือการจัดบรรยากาศทางสังคมภายในห้องเรียน เปิดโอกาสให้เพื่อนนักเรียนเสนอชื่อเพื่อนร่วมห้องที่มีพัฒนาการด้านพฤติกรรมที่โดดเด่น ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการเสริมแรงเชิงบวกที่เหมาะสมกับช่วงวัย เช่น การใช้สติ๊กเกอร์ได้ผลกับนักเรียนชั้นประถมศึกษา แต่ไม่ได้ผลกับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา เป็นต้น ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการเสริมแรงเชิงบวกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การใช้วิธีการเสริมแรงเชิงบวกก็มีสิ่งที่ควรระวังในการนำไปใช้เช่นกัน ได้แก่ การใช้วิธีการเสริมแรงหลากหลายวิธีเกินไปในการปรับพฤติกรรมเพียงหนึ่งพฤติกรรมซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความสับสน พยายามหลีกเลี่ยงรางวัลที่กินได้รวมทั้งรางวัลที่ไม่น่าดึงดูดใจมากพอ เมื่อระยะเวลาผ่านไปนักเรียนจะรู้สึกเบื่อได้ง่าย เป็นต้น
“ติดตามและพัฒนาพฤติกรรมนักเรียน ด้วยตารางบันทึกการเสริมแรงเชิงบวก”
ตารางบันทึกการเสริมแรงเชิงบวก คือตารางที่ครูใช้บันทึกวิธีการหรือสิ่งที่ใช้เสริมแรงทางบวกไปแล้ว รวมทั้งวิธีการหรือสิ่งที่ตั้งใจจะใช้เพื่อเสริมแรงเชิงบวกแก่นักเรียนในอนาคตตามลำดับ ทั้งนี้หลักการสำคัญของการบันทึกตารางเสริมแรงเชิงบวกสามารถทำได้ 5 วิธีการ ดังนี้
1. พยายามใช้การเสริมแรงเชิงบวกอย่างต่อเนื่องกับทุก ๆ พฤติกรรมและทุกสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย
2. การกำหนดจำนวนครั้งอย่างตายตัวของการกระทำหรือพฤติกรรมที่เหมาะสมของนักเรียนเพื่อที่จะได้รับการเสริมแรงเชิงบวก เช่น บอกนักเรียนว่าจะให้รางวัลถ้าหากทำงานส่งตรงเวลาครบ 3 ครั้ง เป็นต้น
3. การกำหนดระยะเวลาที่ตายตัวของการกระทำหรือพฤติกรรมที่เหมาะสมของนักเรียนเพื่อที่จะได้รับการเสริมแรงเชิงบวก เช่น บอกนักเรียนว่าจะให้รางวัลถ้าหากทำงานส่งตรงเวลาตลอดระยะเวลา 3 อาทิตย์ เป็นต้น
4. การกำหนดจำนวนครั้งของการกระทำหรือพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมอย่างยืดหยุ่นไม่ตายตัวนัก เช่น การให้รางวัลแก่นักเรียนหากทำงานส่งตรงเวลาเป็นครั้ง 2 หลังจากนั้นก็ทิ้งช่วงไปให้รางวัลในครั้งที่ 5 หรือ 6 ครั้งต่อไปเมื่อส่งงานตรงเวลาเป็นครั้งที่ 7 เป็นต้น การให้รางวัลโดยไม่กำหนดจำนวนที่ทำได้อย่างตายตัวจะช่วยลดการแสดงพฤติกรรมดีเพื่อรางวัลเพียงอย่างเดียว นักเรียนไม่สามารถคาดเดาได้ว่าการทำดีในครั้งใดจะได้รางวัลตอบแทนบ้าง นักเรียนก็มีแนวโน้มจะแสดงพฤติกรรมดีเหล่านั้นต่อไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอุปนิสัยโดยไม่ยึดติดกับรางวัลหรือผลตอบแทนอีกต่อไป
5. การกำหนดช่วงระยะเวลาของการให้รางวัลหรือการเสริมแรงเชิงบวกแก่การกระทำหรือพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมอย่างยืดหยุ่น ด้วยเหตุผลเดียวกับหลักการข้อที่ 4 ซึ่งจากเดิมเคยกำหนดระยะเวลาของการให้รางวัลในการกระทำดีไว้ 3 อาทิตย์ ก็เปลี่ยนเป็น 1 อาทิตย์บ้าง หลังจากนั้นก็เพิ่มเป็น 2 อาทิตย์ เป็นต้น
การทำตารางบันทึกว่าด้วยแนวทาง และวิธีการเสริมแรงเชิงบวกที่ครูเตรียมการและวางแผนจะนำไปปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนักเรียนในทางที่ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้นั้นจะต้องคำนึงถึงการปรับมุมมอง ปรับบริบทสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับการแสดงออกทางพฤติกรรมของนักเรียนควบคู่กันไปด้วย ในทางกลับกันการตั้งหรือกำหนดขั้นตอนการสริมแรง รวมทั้งการให้รางวัลอย่างตายตัว ขาดความยืดหยุ่นและไม่แปรผันตามสถานการณ์นั้น อาจไม่เหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการนำมาปรับพฤติกรรมของคนที่มีอารมณ์ ความรู้สึก ความนึกคิดที่ซับซ้อน ยิ่งไปกว่านั้นอาจส่งผลในทางตรงกันข้าม โดยที่นักเรียนจะเรียนรู้และแสดงพฤติกรรมดีเพื่อให้ได้รางวัลหรือการเสริมแรงเชิงบวกแทน
หลังจากครูผู้สอนได้ทำการบันทึกวิธีการ และเทคนิคที่ใช้ในการเสริมแรงเชิงบวกและติดตามผลพฤติกรรมของนักเรียนมาสักระยะหนึ่งแล้วนั้น การนำเสนอพัฒนาการพฤติกรรมที่ดีของนักเรียนให้พวกเขาทราบและรับรู้อย่างเป็นรูปธรรมก็เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับพฤติกรรม เช่น การใช้จดหมาย การ์ด บัตรสะสมคะแนน เป็นสื่อลับที่แจกให้นักเรียนรายบุคคลซึ่งในสื่อเหล่านั้นจะแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านพฤติกรรมและความคิดเห็นของครูที่มีต่อความพยายามของนักเรียนแต่ละคน รวมทั้งสิ่งที่ครูรู้สึกชื่นชมและคาดหวังเพิ่มเติม เมื่อนักเรียนได้รับรู้ความคิดเห็น รับรู้ความใส่ใจและรู้สึกได้รับการยอมรับจากครูมากยิ่งขึ้นนั้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจในการปฏิบัติตนในทางที่เหมาะสมต่อไป
ที่มา
Positive Reinforcement in Psychology (Definition + 5 Examples). (2020, September 01). Retrieved July 17, 2020, from https://positivepsychology.com/positive-reinforcement-psychology/
5 Activities For Using Positive Reinforcement in the Classroom. (2020, September 01). Retrieved July 17, 2020, from https://positivepsychology.com/positive-reinforcement-classroom/