Knowledge

จิตวิทยาเชิงบวกว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ตามความถนัด การเรียนรู้อย่างมีความสุข

จิตวิทยาเชิงบวกว่าด้วยเรื่องการเรียนรู้ตามความถนัด การเรียนรู้อย่างมีความสุข

 4 years ago 35304

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          การศึกษาและ การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียน เมื่อกล่าวถึงหลักการจิตวิทยาที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน อีกทั้งจากการศึกษาจะพบว่า มีความสัมพันธ์ส่งเสริมซึ่งกันและกันมาโดยตลอด การใช้จิตวิทยาเชิงบวกควบคู่กับการใช้หลักจิตวิทยาอื่นๆ ในโรงเรียนและ การจัดการเรียนการสอน เพื่อการเรียนรู้อย่างมีความสุข จึงก่อให้เกิดแนวคิดเรื่อง “Positive Education” ขึ้น หมายถึงระบบการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะความสามารถตามความชอบหรือ ความถนัดของนักเรียนโดยใช้จิตวิทยาเชิงบวกเป็นตัวส่งเสริมโดยให้ความสำคัญกับหลักการทางจิตวิทยาและ การอยู่ดีมีสุขทางสังคมของนักเรียนเป็นหลัก การเรียนอย่างมีความสุขนั้นมีความสำคัญ และมีประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างไร EDUCA มีแนวทางบางส่วนมานำเสนอ

...ทำไมต้องเป็น “เรียนรู้อย่างมีความสุข”
          “Positive Education” ถูกพูดถึงและ นำมาปรับใช้เพื่อตอบสนองความต้องการทางการศึกษาของนักเรียนในยุคปัจจุบันมากยิ่งขึ้น เป็นการบูรณาการผสมผสานวัตถุประสงค์และ ความต้องการของโรงเรียน และครอบครัวเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถ ทักษะทางวิชาการ การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมและ ระเบียบวินัยที่โรงเรียนมีบทบาทสำคัญ ในขณะเดียวกัน พ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ล้วนต้องการให้ลูกหลานของตนเองมีความสามารถทางวิชาการที่มาพร้อมๆ กับความสุขในการเรียนรู้ รวมทั้งมีสุขภาพจิตที่ดี เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ตามความถนัดความสามารถอย่างมีความสุขนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับระบบการศึกษาและ การจัดการเรียนรู้แต่อย่างใด การนำ “Positive Education”มาปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้ โรงเรียนจะต้องเตรียมการวางแผนและ แนวทางในการเพิ่มความสำคัญกับการนำความรู้ด้านจิตวิทยาและ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจมาประยุกต์อย่างสร้างสรรค์ในการอบรมสั่งสอนนักเรียน ครูผู้สอนและ ผู้ที่มีประสบการณ์เองต่างก็มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักการทางจิตวิทยาและ พัฒนาการของเด็กนักเรียนแต่ละช่วงวัย รวมทั้งการสร้างสรรค์ออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อลักษณะการเรียนรู้และ ความถนัดที่หลากหลายของนักเรียนเป็นอย่างดี ควบคู่กับการจัดสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่เหมาะสม
          ยิ่งไปกว่านนั้น จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า “positive education” ช่วยแก้ไขและ บรรเทาปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานในระบบการศึกษาอันเกิดจากอิทธิพลของสภาพจิตใจและ สภาพการเป็นอยู่ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ครูผู้สอนที่ต้องทำการจัดการเรียนการสอนและ ใกล้ชิดกับนักเรียนจะเข้าใจประสบการณ์ตรงที่ว่าสภาพจิตใจของนักเรียนเป็นปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อีกทั้งยังมีอิทธิพลโดยตรงต่อการเรียนรู้พัฒนาทักษะของนักเรียน ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow’s (1943) ที่กล่าวถึงประเด็นการสนับสนุนทางด้านอารมณ์และ ความรู้สึกของมนุษย์นั้นจัดเป็นความต้องการที่มีความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่ส่งผลต่อการพัฒนาตนเองในด้านอื่นๆ ตามมา ประกอบงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่ว่าด้วย การใส่ใจสนับสนุนนักเรียนทางด้านอารมณ์และ สภาพจิตใจที่ดีและ เพียงพอช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีแนวโน้มในการพัฒนาตนเองทางด้านการเรียนรู้ การดำรงชีวิต รวมทั้งการเข้าสังคมได้ดีกว่านักเรียนที่ไม่ได้รับการใส่ใจดูแลและ ให้การสนับสนุนอย่างเข้าใจสภาพจิตใจเท่าที่ควร

          ทั้งนี้ทั้งนั้น การเรียนรู้ตามความถนัดอย่างมีความสุขไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของความสุขและ สภาพจิตใจโดยไม่สนใจการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียนแต่อย่างใด หากแต่ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตใจ และมุมมองที่ดีต่อการเรียนรู้อันเป็นรากฐานที่สำคัญ เปิดโอกาสให้นักเรียนจะได้พัฒนาความสามารถทางวิชาการตามความถนัดของนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“เรียนรู้อย่างมีความสุขเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ที่ดีและ การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน”
          บทสนทนาในชั้นเรียนถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการวางพื้นฐานความสัมพันธ์และ การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขในชั้นเรียนไม่ว่าจะระหว่างนักเรียน-นักเรียน หรือ นักเรียน-ครู ทั้งนี้ การสร้างบทสนทนาที่ดี ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของนักเรียนในระดับต่างๆ ยิ่งระดับการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยและ เคารพซึ่งกันและกันมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งที่มีสิทธิมีเสียงเป็นสมาชิกของห้องเรียนส่งผลต่อการค้นพบความต้องการของตนเองและ กล้าแสดงออกในความต้องการของตนเองบนฐานของการเคารพผู้อื่น
          ยิ่งไปกว่านั้น การบูรณาการวิธีการสร้างบทสนทนาและ การมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้นผ่านการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน สามารถทำได้หลากหลายวิธีการ ตัวอย่างเช่น วิธีการสร้างบทสนทนาที่ดีและ มีคุณภาพในห้องเรียน เช่น การที่ครูมอบหมายเรื่องราวหรือสิ่งที่น่าสนใจให้นักเรียนอ่านในแต่ละวัน โดยมีการตั้งคำถามชวนคิดในเบื้องต้นให้นักเรียนได้ฝึกวิเคราะห์เรื่องราวจากความคิดเห็นของตนเองและ นำเสนอประเด็นที่ตนเองสนใจจากการอ่านเพื่อนำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกันกับเพื่อนในห้องเรียนอีกครั้ง เนื่องด้วยเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ครูมอบหมายและ มีคะแนนให้ก็เปรียบเสมือนกติกาที่สนับสนุนหรือผลักดันให้นักเรียนต้องมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น หากไม่มีการกำหนดหรือมอบหมายงานให้แล้วนั้น นักเรียนที่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือการสื่อสารในห้องเรียนจริงๆ คงจะมีเพียงไม่กี่คน และเด็กนักเรียนบางคนโดยเฉพาะคนที่มีนิสัยขี้อายก็จะไม่กล้าไม่อยากมีส่วนร่วมในการสนทนาเลยก็เป็นได้ อีกแนวทางที่จะช่วยให้นักเรียนได้ปรับตัวมีความกล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น ก็คือ ลองปรับกลุ่มสนทนาหรือกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นให้มีขนาดเล็กลง ให้คะแนนทั้งกลุ่มหากทุกคนมีส่วนร่วม อีกทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่มเพื่อการจัดกลุ่ม เป็นต้น

          วิธีดังกล่าวข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนฝึกทักษะการสื่อสารใจความที่ตนเองคิด เข้าใจทักษะในการรับฟังและ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นมากยิ่งขึ้นจากการฝึกฝนและปฏิบัติจริง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีสุขภาพจิตที่แข็งแรง มีอิสระทางความคิด มีความเชื่อมั่นในตนเอง การที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองทำในสิ่งใหม่ๆ และค้นพบความถนัดของตัวเองมากยิ่งขึ้นจากประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป ส่งผลให้นักเรียนเกิดทัศนคติในการเรียนรู้ริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าแสดงออกและอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคมด้วยจิตใจที่แข็งแรงมีความสุข

ที่มา
Positive Psychology In Schools and Education For Happy Students. (2020, September 01). Retrieved July 17, 2020, from https://positivepsychology.com/positive-education-happy-students


TAG: #Positive Education #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #จิตวิทยาเชิงบวก