Knowledge

เมื่อเด็กโกหก… : DOs and DON'Ts ที่ครู และพ่อแม่ควรรู้

เมื่อเด็กโกหก… : DOs and DON'Ts ที่ครู และพ่อแม่ควรรู้

 2 years ago 4072

เอกปวีร์ สีฟ้า

          ครู และผู้ปกครองหลายคนคงจะเคยพบเจอกับเด็กที่พูดไม่ตรงตามความจริง หรือเรียกว่า “โกหก” แต่เชื่อหรือไม่ สำหรับเด็กเล็กที่มีอายุ 2-6 ปีนั้น การโกหกเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากระบบความคิดยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือจินตนาการ แต่ถ้าพบในเด็กประถม (6 ปีขึ้นไป) ซึ่งสามารถแยกแยะความจริงได้แล้ว การโกหกจะเริ่มส่งผลเสียต่อตนเอง และคนรอบข้างได้ แล้วมันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีสิ่งไหนที่ครู และพ่อแม่ควรทำ และไม่ควรทำ เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าว สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้

ทำไมเด็กถึงโกหก
          เมื่อพูดกันถึงสาเหตุของการโกหก เด็กบางคนอาจจะโกหกเพียงเพราะอยากรู้ว่าพูดไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น บ้างก็อยากได้รับความสนใจจากผู้อื่น จึงใช้การพูดเกินจริง เติมแต่งสิ่งที่พูดให้ดูน่าสนใจหรือน่าตื่นเต้นมากขึ้น ในขณะที่บางคนเลือกที่จะโกหกเพื่อหลีกหนีความผิด เอาตัวรอดเพื่อไม่ให้โดนดุหรือถูกลงโทษ และบางครั้งเมื่อเด็กโตขึ้นก็อาจจะเลือกที่จะโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงการทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่น ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า white lie นั่นเอง เพื่อทำให้ผู้ฟังรู้สึกดี และไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ผู้ฟังได้รับความเสียหาย เช่น การโกหกว่าชอบของขวัญที่เพื่อนซื้อให้ ทั้งที่ความจริงแล้วอาจจะไม่ชอบ แต่ก็กลัวเพื่อนเสียใจ

3 สิ่งที่ครู หรือพ่อแม่ควรทำ เมื่อรู้ว่าเด็กโกหก

1. ปรับเปลี่ยนวิธีการพูด หลีกเลี่ยงการตำหนิ
เช่น สถานการณ์ที่ 1 เมื่อนักเรียนทำน้ำหกเลอะพื้น ครูอาจพูดกับนักเรียนว่า “ครูเห็นหนูทำน้ำหกเลอะเต็มพื้นเลย ไปหาผ้ามาเช็ดพื้นหน่อยนะ พื้นจะได้ไม่เลอะ หนู และเพื่อน ๆ จะได้ไม่ลื่นล้มเวลาเดินผ่านด้วย” เพื่อเน้นความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า ดีกว่าที่จะตำหนิว่า “หนูทำอะไรน่ะ” เพื่อไม่ให้นักเรียนปฏิเสธ

สถานการณ์ที่ 2 เวลานักเรียนทำผิด และกล้าพูดความจริง ให้กล่าวชมเชยก่อนว่าครูภูมิใจในตัวหนูที่พูดความจริง ให้นักเรียนรู้ว่าความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เด็กเห็นว่าแม้เขาจะทำผิด แต่การที่เขายอมพูดจริงออกมานั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และควรรู้สึกภูมิใจในตนเองที่กล้ายอมรับ

2. ครูหรือพ่อแม่ควรเป็นแบบอย่างที่ดี
เช่น เมื่อครูสอนเนื้อหาผิด ก็ควรจะยอมรับ และกล่าวขอโทษนักเรียน ไม่พูดโกหกหรือแก้ต่างให้เขาเห็น แต่ควรปลูกฝังแนวคิดที่ว่าคนเราสามารถทำผิดพลาดกันได้ และมันเป็นเรื่องปกติให้กับนักเรียน หรือการสร้างบรรยากาศในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ พ่อแม่ควรจะพูดจากันแบบตรงไปตรงมาโดยที่ไม่ทำร้ายน้ำใจกัน เพราะหากเด็กได้เรียนรู้ในบรรยากาศนี้ เขาจะซึมซับพฤติกรรมไปอย่างอัตโนมัติว่าเขาสามารถพูดความจริงได้อย่างตรงไปตรงมา เมื่อเขาทำผิด

3. ชวนพูดคุยเรื่องผลกระทบของการโกหก และข้อดีของการพูดความจริง
ในการชวนเด็กพูดคุยถึงผลกระทบที่จะตามมาหลังการโกหก อาจจะหยิบยกนิทานเรื่อง เด็กเลี้ยงแกะ หรือนิทานสอนใจเรื่องอื่นที่คล้ายกันมาเล่าให้นักเรียนฟัง แล้วชวนนักเรียนคิดว่าสิ่งที่เด็กเลี้ยงแกะทำเป็นพฤติกรรมที่ดีหรือไม่ ผลจากการโกหกของเด็กเลี้ยงแกะมีอะไรบ้าง และสุดท้ายถ้าไม่โกหก ผลที่ตามมาจะต่างกันไหม เพื่อให้เด็กได้เปรียบเทียบผลที่ตามมาจากการโกหก และพูดความจริง และเน้นย้ำให้เด็ก ๆ รู้ว่าพวกเขาจะสบายขึ้น หากพวกเขาพูดความจริง ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่านักเรียนโกหกว่าทำงานที่ได้รับมอบหมายครบทุกชิ้น เมื่อใกล้ถึงวันกำหนดส่งงาน พวกเขาก็ต้องนั่งทำงานทั้งหมดนั้นอย่างกระวนกระวายใจเพื่อให้ทันเดดไลน์ แต่ถ้าค่อย ๆ ทำตามระยะเวลาที่ครูกำหนดให้ นักเรียนก็จะทำงานนั้นอย่างไม่เร่งรีบ

2 สิ่งที่ครู หรือพ่อแม่ไม่ควรทำ เมื่อรู้ว่าเด็กโกหก

1) เรียกแทนตัวตนของนักเรียนหรือลูกว่า “เด็กโกหก”
Dr. Brady นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า บาดแผลที่เกิดขึ้นจากการแปะป้ายว่าเด็กคนหนึ่งเป็นเด็กโกหกนั้นรุนแรง เด็กจะคิดว่าผู้ใหญ่ไม่ไว้ใจเขา มันจะทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง และอาจสร้างการโกหกที่ซับซ้อน และร้ายแรงกว่าเดิมขึ้นมาอีก เราควรบอกเด็กว่าพฤติกรรมโกหกนั้นไม่ใช่ตัวตนของพวกเขา ยกตัวอย่างเช่น “บางครั้งหนูอาจจะบอกบางอย่างที่ครูไม่อยากได้ยินหรือพูดสิ่งที่มันไม่จริง แต่จำไว้ว่าพฤติกรรมของหนูไม่ใช่ตัวตนของหนู เพราะบางครั้งคนเราก็ทำผิดพลาดกันได้ และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ครูก็อยากให้รู้ว่าครูยังรักหนูเหมือนเดิมนะ”

2) ต้อนให้เด็กจนมุม
การสร้างความกดดันเพื่อให้เด็กพูดความจริงออกมา อาจกลายเป็นการทำให้รู้สึกกลัวจนพูดโกหกได้ หากครูหรือผู้ปกครองรู้ความจริงแล้ว ก็ควรที่จะพุ่งเป้าไปที่เรื่องนั้น และพูดคุยกันในประเด็นนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากครูพบว่านักเรียนไม่ทำการบ้าน แทนที่จะถามว่า “หนูไม่ได้ทำการบ้านมาใช่ไหม” ครูอาจพูดว่า “ครูรู้ว่าหนูไม่ได้ทำการบ้าน มาคุยกันไหมว่าทำไมมันถึงไม่ใช่สิ่งที่ดี” ครูหรือพ่อแม่ควรคอยสังเกตเด็ก ๆ อยู่สม่ำเสมอ และเมื่อพบว่าพวกเขาเริ่มแสดงพฤติกรรมโกหกก็ตั้งรับด้วยวิธีที่เหมาะสม ไม่กล่าวตำหนิหรือตีตราว่าเขาเป็นเด็กขี้โกหก แต่ควรจะเป็นกำลังใจให้เขากล้าพูดความจริงหรือมีความซื่อสัตย์ ผ่านการเป็นแบบอย่างที่ดี และสร้างบรรยากาศที่พูดคุยกันได้อย่างสบายใจขึ้นมา

แหล่งอ้างอิง
Arky, B. (n.d.). Why kids lie and what parents can do about it. Child Mind Institute. https://childmind.org/article/why-kids-lie/

the australian parenting website. (2022, February 28). Lies: Why children lie and what to do. https://raisingchildren.net.au/preschoolers/behaviour/common-concerns/lies

ชนม์นิภา แก้วพูลศรี. (2563, 1 เมษายน). เมื่อลูกพูดโกหก พ่อแม่ควรสอนลูกอย่างไร. โรงพยาบาลพญาไท. https://www.phyathai.com/article_detail/2296/th/เมื่อลูกพูดโกหก_พ่อแม่ควรสอนลูกอย่างไร?branch=PYT2

ยศมน จิรัฐวงศ์. (2563, 17 กรกฎาคม). สอนอย่างไรให้เด็กๆ ไม่พูดโกหก. โรงพยาบาลสมิติเวช. https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/ลูกชอบโกหก

อังคณา อัญญมณี. (ม.ป.ป.). "ลูกโกหก" พฤติกรรมไม่พึงปรารถนา พ่อแม่ช่วยได้. โรงพยาบาลมนารมย์. https://www.manarom.com/blog/Conduct_Disorder.html


TAG: #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาการเรียนรู้ #การจัดการพฤติกรรมไม่ดี #เด็กโกหก #การจัดการชั้นเรียน