Knowledge
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไว เรียนอย่างไรให้มีความสุข
4 years ago 9843ผู้เขียน: กนกวรรณ สุภาราญ ครู Teach for Thailand
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ
ปัจจุบันกระแสการเรียนรู้ผ่านสื่อและเทคโนโลยีได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มนักเรียนทุกช่วงวัย นักเรียนที่มีเครื่องมือสื่อสารเช่น โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต จะสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ที่หลากหลาย และรวดเร็วได้ตลอดเวลาในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดภาวะการเสพติดสื่อ และเทคโนโลยีดังกล่าว ส่งผลกระทบ และเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนในโรงเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้การจัดการชั้นเรียนของผู้สอนเป็นไปอย่างยากลำบาก และบั่นทอนสมาธิของนักเรียน กลายเป็นปัญหาทางการเรียนรู้ในท้ายที่สุด หากเราเรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อการปรับตัว และสร้างการเรียนรู้ในชั้นเรียนที่ทันสมัย เกิดข้อตกลงร่วมกันในการใช้เครื่องมือสื่อสารในช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“ประโยชน์ของเทคโนโลยีกับการพัฒนาการเรียนรู้”
เมื่อพูดถึงข้อดี และประโยชน์ของอินเทอร์เน็ต ซึ่งนับวันยิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนไปแล้ว สร้างความสะดวกสบายในการสื่อสาร และการค้นคว้าข้อมูลที่หลากหลายเปิดกว้างได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงประโยชน์ของอินเทอร์เน็ตในด้านการศึกษากลับพบว่า นักเรียนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นคว้าหาข้อมูลเบื้องต้นได้ แต่ไม่สามารถสรุป หรือเข้าใจสาระสำคัญของเนื้อหาข้อมูล และวิเคราะห์ความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลที่ค้นหามาได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการขาดวิจารณญาณ และขาดทักษะการอ่านจับใจความ การเลือกใช้คำสำคัญในการสืบค้น และคัดเลือกข้อมูลที่เหมาะสมจากข้อมูลที่มีอยู่จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายย่อมมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษเช่นเดียวกัน ถ้านักเรียนไม่สามารถเข้าใจแก่นสาระ หรือวิเคราะห์ข้อมูลมากมายที่อ่านได้ อินเทอร์เน็ต และสื่อเทคโนโลยีล้ำสมัยก็จะกลายเป็นเพียงความทันสมัย และเป็นเครื่องมืออำนวยสะดวกแค่ภายนอกเท่านั้น
“เรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีอย่างไรให้เหมาะสมกับรูปแบบชั้นเรียนไทย”
การเรียนรู้แบบบรรยายในห้องเรียนปัจจุบัน กำลังประสบกับปัญหาการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ไม่เหมาะสมกับช่วงเวลา และการใช้เครื่องมือสื่อสารในทางที่ไม่เหมาะสมในการเรียน ยิ่งไปกว่านั้น หากมาตรการในการจัดการปัญหาการใช้เครื่องมือสื่อสารที่ไม่เหมาะสมนั้นก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง และการต่อต้านจากนักเรียนตามมา ทำให้การเรียนรู้ และการจัดการชั้นเรียนเกิดปัญหาขึ้น ดังนั้น แนวคิดเรื่องการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการใช้เครื่องมือสื่อสารให้เกิดประโยชน์ต่อชั้นเรียน จึงเริ่มได้รับความสนใจ และมีการพัฒนามาตรการที่สร้างสรรค์สื่อเทคโนโลยีเข้ากับการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ในฐานะครูผู้สอนหรือแม้กระทั่งผู้ปกครองก็สามารถปรับวิธีการบูรณาการการเรียนรู้โดยใช้เครื่องมือสื่อสารเป็นสื่อการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“เทคโนโลยีนำทางสู่ความรู้ แต่ครูแนะนำวิธีคิด”
การเรียนรู้โดยนำสื่อเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพของการเรียนรู้ การให้ความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ครูผู้สอนอาจจัดเป็นกิจกรรมในหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน เป็นการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม ในหัวข้อที่นักเรียนสนใจ หรือเป็นการค้นหาข้อมูลเพื่อนำมาสรุปประเด็นความรู้จากบทเรียน ไม่ว่าจะทำแบบเดี่ยวหรือกลุ่มก็ตาม ครูผู้สอนจะมีบทบาทในการให้คำแนะนำการใช้เทคโนโลยีเพื่อการค้นคว้ามากกว่าเป็นผู้ถ่ายทอดข้อมูลทุกอย่างให้แก่นักเรียน ดังนั้น รูปแบบการเรียนรู้ในชั้นเรียนจึงมีลักษณะของการสื่อสารกันระหว่างครู และนักเรียนมากขึ้น เปรียบบทบาทของครูที่มีต่อนักเรียนคือผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และตั้งคำถามชวนคิดเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างกันมากขึ้น นักเรียนเรียนรู้ผ่านการคิด และวิเคราะห์จากข้อมูลที่ค้นหา รวมทั้งค้นพบข้อจำกัด และข้อควรพัฒนาของการใช้เทคโนโลยีของตนเอง ผ่านการทำกิจกรรมในชั้นเรียนได้สัมผัส และลงมือทำจริง
อย่างไรก็ตาม การจัดการชั้นเรียนร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสามารถทำสลับกับการจัดการเรียนการสอนแบบบรรยาย เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศของการเรียนให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้นตามบริบทห้องเรียนที่เหมาะสม กับการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอน และความเหมาะสมของผู้เรียนเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้น่าสนใจ ในขณะเดียวกันก็เลือกใช้ประโยชน์จากสื่อเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้ให้มากที่สุด
ดังนั้น ครู ผู้ปกครอง อย่ากลัวการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา และพัฒนาทักษะของเด็กและเยาวชน โดยผู้ปกครอง และครูจะต้องเข้าใจถึงข้อดี และข้อเสียของสื่อเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสม รวมทั้งสร้างข้อตกลงร่วมกับเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแบ่งเวลา การใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ และปลอดภัยจากข้อมูลที่ไม่เหมาะสม หากว่าทุกคนสามารถเรียนรู้ และเข้าใจที่จะปรับใช้ประโยชน์ของสื่อเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาศักยภาพ และส่งเสริมการเรียนรู้ที่เหมาะสม ก็สามารถใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาตนเองได้อย่างเท่าทัน และมีประสิทธิภาพนั่นเอง
ที่มา
มุทิตา หวังคิด, ฤทธิชัย อ่อนมิ่ง และ ลัดดาวัลย์ เกษมเนตร. (2560). การสร้างรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยการเรียนรู้กลับทางร่วมกับการเรียนรู้แบบนำตนเองของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1. วารสารวิจัยราชภัฏพระนคร สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, 12(1)198-200