Knowledge
โดดเรียน….แก้ได้ ด้วยเข้าใจ และใส่ใจกัน
3 years ago 46436เรียบเรียงโดย อาทิตยา ไสยพร
หลาย ๆ ครั้ง พบว่า เมื่อเข้าสอนครูอย่างเราจะประสบปัญหาว่ามีนักเรียนบางกลุ่มหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ เจอกันสัปดาห์ถัดไปก็ดูจะปกติ แต่ครั้งถัดมาเขาก็ขาดเรียนอีกแล้ว ในฐานะครูเมื่อเราไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหานี้ได้ว่าทำไมนักเรียนที่ของเราคนนี้ไม่เข้าเรียนในรายวิชาของเรา เราก็ต้องกังวลใจเป็นธรรมดา แล้วเราจะมีวิธีเข้าใจนักเรียนกลุ่มนี้อย่างไรเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพื่อสร้างบรรยากาศในห้องเรียนที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนที่โดดเรียนวิชาของเราอยากจะเข้ามาเรียนรู้ในวิชานี้มากขึ้น
1.เข้าใจสาเหตุ
ปัญหานักเรียนโดดเรียนนั้นมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เราต้องระบุให้ได้ก่อนว่าการที่เขาโดดเรียนเป็นเพราะอะไร หรือมีหลายปัจจัย ปัจจัยใดสำคัญที่สุด เช่น
ครอบครัว ครอบครัวนั้นมีผลต่อการไม่อยากเรียนของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นการขาดความอบอุ่นในครอบครัวที่นักเรียนจะต้องเผชิญกับการทะเลาะกันของคนในครอบครัว ผู้ปกครองที่ไม่ใส่ใจนักเรียนเท่าที่ควร รวมไปจนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ห่างเหินกันจนนักเรียนขาดที่ปรึกษาทำให้ส่งผลต่อนักเรียนโดยตรงจนเกิดปัญหาที่ไม่อยากเรียนหนังสือตามมา
กฎระเบียบของโรงเรียน นักเรียนขาดความเข้าใจในกฎระเบียบวินัยของห้องเรียน ซึ่งบางครั้งกฎระเบียบภายในห้องเรียนต้องชี้แจงให้ชัดเจนก่อนเริ่มเข้าเรียน เพื่อให้นักเรียนไม่เกิดข้อสงสัยต่อตัวกฎระเบียบเหล่านั้น
คุณครู ในสาเหตุที่กล่าวมาด้านของคุณครูมีความสำคัญมากที่สุดเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของคุณครูภายในห้องเรียนมีผลต่อความรู้สึกอยากเข้าเรียนของนักเรียนมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม การสอน รวมไปถึงการปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมปัจจัยนี้จึงสำคัญมาก ๆ ที่ทำให้เด็กตัดสินใจเลือกว่าจะเข้าเรียนหรือไม่
เพื่อน วัยเรียนเป็นวัยที่เพื่อนมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตมากที่สุด หากนักเรียนคบสมาคมกันแล้วผ่านการคิดทำสิ่งไม่ถูกต้องก็สามารถทำให้ไม่อยากเรียนหนังสือได้ สิ่งแวดล้อม หากนักเรียนเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้ไม่เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยยาเสพติด วัยรุ่นยกพวกตีกัน สาเหตุนั้นก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไม่อยากเรียน
2.ทำความเข้าใจนักเรียนกลุ่มนี้อย่างไร
เมื่อเราเข้าใจสาเหตุที่ส่งผลทำให้นักเรียนไม่อยากเรียนแล้วนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องมาทำความเข้าใจผู้เรียนเป็นรายบุคคลไม่ว่าจะผ่านการสังเกตพฤติกรรมหรือการสอบถาม เช่น ก่อนเริ่มเข้าชั้นเรียน คุณครูสร้างกิจกรรมให้นักเรียนได้เขียนในสิ่งที่นักเรียนคาดหวัง และสิ่งที่กังวล รวมถึงปัญหาและอุปสรรคที่เป็นปัญหาต่อการเรียน เพื่อที่จะได้รู้ถึงปัญหาของนักเรียนแต่ละบุคคลและสามารถจัดการเรียนการสอนให้ดีขึ้น
3. ใส่ใจ...แก้ปัญหาได้แน่นอน
ครูควรเริ่มจากการพูดคุยกับนักเรียน หากคุณครูกำลังพบปัญหานักเรียนไม่เข้าเรียน ขั้นแรกไม่ควรลงโทษนักเรียนโดยทันที แต่ต้องเริ่มด้วยการปรับความเข้าใจ ถามถึงสาเหตุ รวมถึงการหาข้อตกลงที่ดีมาพูดคุยกับนักเรียน เพื่อที่จะได้เปลี่ยนความคิดนักเรียนให้มีแรงจูงใจในการเข้าชั้นเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ครูปรับกิจกรรมในห้องเรียนให้นักเรียนมีส่วนร่วมหรือมีสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น การเรียนรู้ด้วยการใช้กิจกรรมกลุ่ม การเสนอความคิดเห็นในห้องเรียน การใช้รูปแบบเกมมาปรับใช้ในคาบเรียน และที่สำคัญให้เพื่อนในห้องช่วยดูแลซึ่งกันและกัน ก็จะสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตร และห่วงใยกันได้
หากคุณครูเข้าใจสาเหตุของการโดดเรียนของนักเรียนและสามารถปรับแก้ไขได้ตรงจุด บรรยากาศภายในห้องเรียนจะเต็มไปด้วยแรงจูงใจในการเรียนรู้ แล้วยังช่วยให้นักเรียนสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองให้ดีขึ้นได้ เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเขาเอง และบรรยากาศการเรียนรู้ของห้องเรียนของเราทุกคน
แหล่งอ้างอิง
รุ่งนภา ถมมา. (2555). วิจัย การศึกษาพฤติกรรมการขาดเรียนในรายวิชาการบัญชีเบื้องต้น2 ห้อง CD102 วิทยาลัยเทคโนโลยีพายัพและบริหารธุรกิจ. 13 พฤษภาคม 2564,จาก http://www.payaptechno.ac.th/app/images/payap/qa/innovation/teacher
สุทัศน์ ภูมิภาค.(2561). เด็กหนีเรียน แก้อย่างไรให้ตรงจุด. 13 พฤษภาคม 2564, จาก https://www.kruupdate.com/7279/