Knowledge

ทำไมการสะท้อนคิดด้วยตนเอง อาจไม่เหมาะกับครูฝึกสอน

ทำไมการสะท้อนคิดด้วยตนเอง อาจไม่เหมาะกับครูฝึกสอน

 4 years ago 4840

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          หลายแวดวงอาชีพมักจะมีการฝึกฝนทักษะด้วยเครื่องจำลองสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความชำนาญก่อนที่จะให้บริการหรือทำอาชีพนั้นจริงๆ เช่น วงการการแพทย์ การบิน และการทหาร แล้ววงการการศึกษาล่ะ เคยมีการใช้เครื่องจำลองสถานการณ์ให้ครูฝึกสอนได้ฝึกทักษะจริงๆ ก่อนเจอนักเรียนในห้องเรียนหรือเปล่า

          ล่าสุดงานวิจัยจาก University of Virginia ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการทดลองใช้เครื่องจำลองสถานการณ์กับครูฝึกสอน แต่เป็นการจำลองสถานการณ์นักเรียนที่มีความประพฤติไม่เหมาะสม เพื่อดูว่าครูฝึกสอนจะสามารถควบคุมพฤติกรรมของนักเรียนได้หรือไม่ เพราะนักเรียนกลุ่มนี้ขึ้นชื่อว่าเป็นที่เข็ดขยาดของครูฝึกสอนทุกยุคทุกสมัย

          การทดลองนี้จะมีตัวละครนักเรียนหลายรูปแบบ ทั้งนักเรียนที่ร้องเพลงเสียงดัง พูดคุยกับเพื่อน ส่งข้อความ หรือรับโทรศัพท์ในชั้นเรียน ซึ่งตัวละครทั้งหมดนี้แท้จริงแล้วมีนักแสดงมืออาชีพคอยควบคุมอยู่เบื้องหลัง ครูฝึกสอนจะต้องตัดสินใจว่าจะรับมือกับสถานการณ์จำลองนั้นอย่างไร และต้องฝึกทักษะการดูแลนักเรียน รวมถึงบอกนักเรียนว่าจะต้องทำอะไร โดยใช้คำพูดน้อยที่สุด เช่น “เราฟังกันเงียบๆ” ด้วยน้ำเสียงที่สงบ และดูใจดี

          เมื่อสถานการณ์จำลองพร้อม ครูฝึกสอนที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 105 คน ก็จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ตามวิธีการที่แตกต่างกันออกไป
1. กลุ่มใช้เครื่องจำลองสถานการณ์ควบคู่กับการ Coaching สั้นๆ เพื่อทบทวน และให้คำติชม
2. กลุ่มที่มีผู้ให้คำแนะนำคอยกระซิบอยู่ตลอดว่า ควรทำอย่างไรในขณะที่ฝึกฝนกับเครื่องจำลองสถานการณ์
3. กลุ่มที่ใช้แบบฝึกหัดสะท้อนคิดด้วยตนเอง เพื่อหาแนวทางการจัดการชั้นเรียน

          ผลการทดลองในครั้งนี้ค่อนข้างสร้างความประหลาดใจให้คนในแวดวงการศึกษาพอสมควร เพราะเราต่างส่งเสริมให้การสะท้อนคิดด้วยตนเองเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญของการพัฒนาตนเอง เราเข้าใจว่าการคิด และการสะท้อนคิดสิ่งต่างๆ จะช่วยให้เราพัฒนาขึ้น แต่ผลการทดลองกลับพบว่า ครูกลุ่มที่ใช้เทคนิคการสะท้อนคิดด้วยตนเองมีพัฒนาการในการจัดการชั้นเรียนต่ำกว่าครูใน 2 กลุ่มแรก อีกทั้งยังทำให้ครูกลุ่มนี้มีทัศนคติด้านลบมากขึ้นต่อนักเรียนที่ไม่เชื่อฟังด้วย ครูจะมองว่านักเรียนเป็นปัญหา และหันไปใช้การลงโทษแทน เช่น กันนักเรียนที่สร้างปัญหาออกจากชั้นเรียน ผลการทดลองนี้อาจกำลังบอกเราอยู่กลายๆ ก็ได้ว่า ครูฝึกสอนอาจต้องการความช่วยเหลือ หรือคำปรึกษาต่างๆ มากกว่าที่เรากำลังมอบให้กับพวกเขาอยู่ก็ได้

          แม้ว่าสุดท้ายแล้ว เครื่องจำลองสถานการณ์ในชั้นเรียนนี้จะเรียกได้ไม่เต็มปากว่า เป็นเครื่องจำลองสถานการณ์จริงๆ เพราะยังไม่ได้ใช้ AI ในการสร้างตัวละครเสมือนจริง อีกทั้งไม่ได้มีไว้เพื่อลดต้นทุนหรือเวลา แต่นักวิจัยก็หวังว่า แบบฝึกหัดจากสถานการณ์จำลองนี้จะช่วยส่งเสริมการฝึกสอนของครูในชั้นเรียนจริงๆ ได้เช่นเดียวกับที่นักเรียนแพทย์สามารถฝึกหัดกับคนไข้จำลองได้นอกเหนือจากการฝึกฝนกับแพทย์ประจำบ้านในโรงพยาบาลเดียวกัน ที่น่าสนใจคือ งานวิจัยนี้ตอกย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการให้คำแนะนำจากครูพี่เลี้ยง ที่แม้การสะท้อนคิดด้วยตนเองจะเป็นเรื่องดี แต่สำหรับมือใหม่แล้ว การมีคนที่มีประสบการณ์มากกว่ามาคอยให้คำแนะนำก็ยังเป็นการสร้างความอุ่นใจที่ดี และยังช่วยให้ครูฝึกสอนพัฒนาทักษะในชั้นเรียนได้จริง

อ้างอิง:
Barshay, J. (2020, April 20). Learning to teach from naughty avatars. Retrieved April 27, 2020, from https://hechingerreport.org/learning-to-teach-from-naughty-avatars/


TAG: #การจัดการชั้นเรียน #การวิจัยพัฒนาการจัดการเรียนรู้