Knowledge

เมื่อระยะห่างทางสังคม ....ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้

เมื่อระยะห่างทางสังคม ....ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้

 4 years ago 9307

ผู้เขียน: นางสาวกนกวรรณ สุภาราญ
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          วิธีการดำเนินชีวิตของนักเรียนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับระยะเวลาปิดเทอมที่ยาวนานขึ้น การปรับตัว และที่เริ่มคุ้นชินกับการเว้นระยะห่างทางสังคมมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนท่ามกลางสภาวะการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดนั้นต้องมีการปรับตัว และเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ดังนั้นนอกจากการป้องกัน ระมัดระวังตนเองไม่ให้ติดเชื้อแล้วนั้น การจัดสภาพแวดล้อมห้องเรียน รวมถึงการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนที่เอื้ออำนวย และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างปลอดภัย เหมาะสมกับสถานการณ์ และเกิดประโยชน์สูงสุด

“สร้างโรงเรียน ห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย และปลอดเชื้อ”
           การเตรียมการในด้านต่างๆ เพื่อรับกับการเปิดเทอม เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดนั้น จึงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ครูและผู้บริหารโรงเรียนมีการประชุมหารือแนวทางในการปรับเปลี่ยนห้องเรียน และการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม และยึดสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ การเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัยนั้นสามารถทำได้ตามแนวทางดังนี้

  • ลดการเคลื่อนย้าย และเดินทางระหว่างตึกอาคารให้ได้มากที่สุด ลดการจัดกลุ่ม รวมกลุ่มของนักเรียน หากห้องเรียนได้มีการจัดกลุ่มไว้เช่นไร ก็ควรรักษาระยะห่างและยึดถือกลุ่มดังกล่าวเป็นหลัก ไม่ควรมีการใกล้ชิดกันระหว่างกลุ่ม หรือข้ามห้องเรียน เป็นต้น
  • ไม่ควรจัดกิจกรรมหรือคาบเรียนเพิ่มเติมที่ต้องมีการรวมกลุ่มนอกสถานที่ ควรรักษาระยะห่างสังคมอย่างจริงจัง
  • ไม่ควรให้บุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง หรือ กลุ่มคนที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินการของโรงเรียน เข้ามาในโรงเรียน หากมีความจำเป็นจะต้องเตรียมการป้องกัน รักษาความสะอาด และเว้นระยะห่างทางสังคม หากจำเป็นอาจจะต้องมีการทำสัญลักษณ์ที่กำหนดระยะห่างที่เหมาะสมในพื้นที่ที่มีการรวมตัวของบุคคลภายนอก เป็นต้น
  • การจัดพื้นที่ระยะห่างในห้องเรียน ที่นั่งระหว่างนักเรียนควรมีระยะห่าง 1.5 เมตรขึ้นไป นั่นหมายถึงห้องเรียนแต่ละห้องจะสามารถรองรับนักเรียนได้จำกัด การจัดการปริมาณนักเรียนและจัดหาห้องเรียนที่เพิ่มมากขึ้นนั้น ต้องอาศัยการจัดการที่ดี และคำนึงถึงทรัพยากรที่มีอยู่ เช่น สถานที่ จำนวนห้องเรียน บุคลากร จำนวนครู ที่จะสามารถจัดการเรียนการสอนรองรับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม
  • ควรจำกัดพื้นที่ห้ามเข้า เช่น สนามเด็กเล่น โรงอาหาร หรือสถานที่ที่คนพลุกพล่าน ง่ายต่อการสัมผัส ใกล้ชิดระหว่างบุคคล ทั้งนี้ ควรให้นักเรียนทานอาหารในชั้นเรียน โดยการรับประทานอาหารที่โต๊ะส่วนบุคคล ลดการพูดคุยในระยะประชิดตัว และลดการสัมผัสสิ่งของประจำตัวของเพื่อนร่วมชั้น
  • ไม่ควรให้นักเรียนหยิบยืมสิ่งของหรืออุปกรณ์การเรียนระหว่างกัน แม้กระทั่งการผลิตสื่อการสอนของครูก็ควรตระหนักถึงเรื่องการสัมผัสสื่อระหว่างกลุ่มนักเรียน เป็นต้น หากจำเป็นควรมีการเช็ดทำความสะอาดอยู่เสมอ รวมทั้งมาตรการการรักษาและทำความสะอาดบริเวณห้องเรียนที่เคร่งครัดมากขึ้นอีกด้วย

          แนวทางการเตรียมการและรับมือกับการเปิดเรียนในข้างต้น ถือเป็นเรื่องการจัดสภาพแวดล้อม และสถานที่ในโรงเรียนโดยทั่วไป อีกทั้งประเด็นในการเฝ้าระวังยังขึ้นอยู่กับบริบทของโรงเรียนแต่ละโรงเรียนในการวางแผน  และเสนอแนวทางการจัดการที่เหมาะสมกับบริบทโรงเรียนร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ศึกษาข้อจำกัด และความเสี่ยงของโรงเรียนในการบริหารจัดการท่ามกลางสภาวะที่ไม่แน่นอนได้อย่างราบรื่น

“ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ ‘ระยะห่าง’ ในการเรียนรู้”
          เนื่องจากการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดโอกาสแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การจัดที่นั่งหรือบริเวณต่างๆ ในโรงเรียนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในทางกลับกันการเว้นระยะห่างระหว่างที่นั่งก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการออกแบบ และสร้างสรรค์ผังที่นั่งรูปแบบใหม่ๆ และใช้พื้นที่ภายในห้องเรียนให้สอดรับ และสร้างเสริมบรรยากาศห้องเรียนให้น่าสนใจยิ่งขึ้นอีกด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือการหมั่นรักษาความสะอาดของห้องเรีย นและที่นั่งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสั่งสมเชื้อโรคในเบื้องต้น
          ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ท้าทายในการเตรียมตัวเปิดโรงเรียนในช่วงนี้ นอกจากการเตรียมสถานที่ พื้นที่ต่างๆ ในโรงเรียนให้เหมาะสมแล้วนั้น ครูยังมีหน้าที่เพิ่มเติมนอกจากการจัดการเรียนการสอน และการดูแลนักเรียนที่มากกว่าในช่วงเวลาทั่วไปอีกด้วย เช่น การเฝ้าติดตามพฤติกรรมการป้องกันตัวของนักเรียน การเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้ง การสนับสนุนให้ความช่วยเหลือนักเรียนอย่างเหมาะสม อีกทั้ง ครูผู้สอน หรือ ครูประจำชั้นควรสื่อสาร และติดตามเฝ้าระวัง วิธีการปฏิบัติตัวของนักเรียนในห้องเรียนอยู่สม่ำเสมอ เป็นต้น

“เตรียมเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย ทำได้หากมีการวางแผนที่ดี”
          การเปิดโรงเรียนท่ามกลางสภาวะเฝ้าระวังนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยการวางแผนอย่างมีส่วนร่วมระหว่างผู้บริหารครู และชุมชนข้างเคียงในการร่วมนำเสนอปัญหา และทางออกร่วมกันเพื่อค้นหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนให้ได้มากที่สุด มีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี ทำให้มีแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือและประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่นักเรียน ผู้ปกครองและผู้ที่เข้ามาในโรงเรียนได้เข้าใจในแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส สามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนและเรียนรู้ในชั้นเรียนได้เป็นอย่างดี

ที่มา:
Eggebrecht-Weinschreider05/08/20, C. (n.d.). Rethinking School Spaces and Structures to Maintain Proper Distancing Amid COVID-19. Retrieved June 22, 2020, from https://spaces4learning.com/articles/2020/05/08/rethinking-school-spaces-and-structures-to-maintain-proper-distancing.aspx


TAG: #Social Distancing #การจัดการชั้นเรียน #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่ #การออกแบบจัดการเรียนรู้