Knowledge

แก้ไขปัญหาร้อยแปดพันเก้าพฤติกรรมเด็ก ด้วยจิตวิทยาการศึกษา

แก้ไขปัญหาร้อยแปดพันเก้าพฤติกรรมเด็ก ด้วยจิตวิทยาการศึกษา

 4 years ago 38748

ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          การเป็นครูทุกวันนี้มีความท้าทายมากขึ้นทุกวัน ไหนจะต้องเตรียมทั้งการเรียนการสอนให้พร้อมรับเด็กที่มีลักษณะการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป แล้วยังต้องจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน เช่น เด็กไม่ตั้งใจเรียนบ้าง ขาดวินัยบ้าง ครูยุคนี้จะมีเครื่องมืออะไรในการช่วยจัดการปัญหาร้อยแปดพันเก้าในห้องเรียนได้บ้าง
          จิตวิทยาการศึกษา คือ ศาสตร์ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน ในสภาพการเรียนการสอนหรือในชั้นเรียน เพื่อค้นคิดทฤษฎีและหลักการที่จะนำมาช่วยแก้ปัญหาทางการศึกษา และส่งเสริมการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เราจะเริ่มนึกถึง “จิตวิทยา” เมื่อเราเจอปัญหาเกี่ยวกับลูกศิษย์

          ย้อนกลับไปสมัยที่ครูทุกคนยังเป็นนิสิต นักศึกษาครู ทุกคนเคยผ่านวิชาจิตวิทยาการศึกษากันมาแล้วทั้งนั้น ว่ากันตามทฤษฎี จิตวิทยาการศึกษาคือ การนำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน เพื่อให้เรารู้จัก และเข้าใจลูกศิษย์ของเรา เข้าใจว่ามีปัจจัยอะไรที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับผู้สอน และการเรียนรู้ ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ให้มากที่สุด แต่ปัญหาลูกศิษย์ที่เกิดขึ้นจริงในห้องเรียนสมัยนี้ มีความซับซ้อนกว่าห้องเรียนสมัยก่อนมาก ครูจึงต้องปรับเปลี่ยนกลวิธี ทดลองดูว่าวิธีไหนเหมาะสม ใช้แล้วได้ผลกับเด็กๆ ของเรา

          เมื่อไรก็ตามที่ครูเจอปัญหาลูกศิษย์ สิ่งแรกที่ครูควรทำคือ ถามตัวเองก่อนว่าปัญหานั้นเป็นปัญหาของใคร ของครู พ่อแม่ หรือของเด็ก บางครั้งครูรู้สึกว่ากำลังเจอปัญหาเด็กไม่ตั้งใจเรียน แต่ตัวเด็กเองกลับไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นปัญหาของเขา เมื่อเราระบุได้แล้วว่าเป็นปัญหาของใคร โอกาสในการใช้จิตวิทยาการศึกษาเข้ามาช่วยแก้ไขจะยิ่งประสบความสำเร็จสูงขึ้น เมื่อครูเข้าใจหลักการ 2 ข้อนี้

  1. ปัญหาจะแก้ไขได้ เมื่อเจ้าตัวยินดี เต็มใจอยากจะแก้
  2. ปัญหาทุกอย่างที่ลูกศิษย์เราแสดงออกมาล้วนมีสาเหตุ

ทำไมเด็กยุคนี้ขาดวินัย ครูช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไร

          หลายครั้งที่ครูพบว่าเด็กๆ ไม่ค่อยมีวินัย ครูจึงตั้งกฎในห้องเรียนขึ้น โดยหวังว่าจะทำให้เด็กมีวินัยมากขึ้น แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะเด็กๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมในการตั้งกฎเหล่านี้เลย หากครูให้เด็กๆ มีสิทธิ์มีเสียงในการตั้งข้อตกลงร่วมกันในห้องเรียน เขาจะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของกฎเหล่านี้ โอกาสที่เด็กจะยินยอมทำตามก็มีมากขึ้น

ใช้ของรางวัลเข้าล่อ พฤติกรรมที่ครูและผู้ปกครองต้องระวัง

“ถ้าสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ แม่จะซื้อโทรศัพท์ให้”

          เมื่อแรงจูงใจในการเรียนของเด็กๆ ไปผูกอยู่กับข้อแลกเปลี่ยน ของรางวัลต่างๆ คงไม่ใช่เรื่องดีแน่ หากครู ผู้ปกครองจะใช้การเสริมแรงจากภายนอกเป็นข้อต่อรองให้พวกเขาทำคะแนนสูงๆ ในห้องเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากข้อแลกเปลี่ยนนั้นไปผูกกับความรัก ความภูมิใจ สีหน้า แววตาชื่นชม เมื่อเอ่ยถึงความสำเร็จของเด็กๆ ไม่ใช่ว่าการเสริมแรงจากภายนอกเป็นเรื่องผิดเสมอไป แต่เราต้องใช้ในระดับที่พอเหมาะพอดี ลดการตั้งเป้าหมายโดยมุ่งที่ผลงานหรือเกรดของเด็ก แต่เปลี่ยนมาตั้งเป้าเพื่อการเรียนรู้แทน ครูอาจจะใช้ดาว สติกเกอร์น่ารักๆ มาสร้างแรงจูงใจให้เด็กเล็ก หรือให้เด็กดูกราฟคะแนนของเขาว่ามีพัฒนาการขึ้นมากเพียงใด

แก้ปัญหาสุดคลาสสิก เด็กไม่สนใจเรียน ดุแล้วก็เหมือนเดิม

          โดยรวมแล้วเด็กที่ไม่สนใจเรียนเกิดจากการที่เขาขาดแรงจูงใจ ไม่รู้ว่าเรียนแล้วจะนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างไร ครูอาจต้องทดลองหาว่าวิธีไหนจะกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ได้มากที่สุด ลองโยนคำถามชวนคิดให้พวกเขา เพิ่มการทำกิจกรรมลงไปในกระบวนการเรียนรู้ หรือเพิ่มสื่อการสอน หน้าที่ของครูต้องช่วยสนับสนุนเด็กๆ ในเรื่องต่อไปนี้

  1. กระตุ้นให้เด็กรู้สึกอยากเรียน เช่น อยากพูดภาษาอังกฤษ แล้วรักษาความอยากเรียนรู้ของเด็กไปเรื่อยๆ
  2. สร้างความมั่นใจให้เด็กเชื่อว่าเขาทำได้ หลายครั้งที่เราอยากจะทำอะไรสักอย่าง แต่สุดท้ายไปไม่รอด เพราะลึกๆ แล้ว เราเองไม่เชื่อว่าจะทำได้จริงๆ

          การใช้จิตวิทยาการศึกษาแก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็ก จึงไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว วิธีแก้ปัญหาหนึ่งอาจใช้ไม่ได้กับเด็กทุกคน นอกเหนือจากงานสอนที่เป็นงานหลักแล้ว ครูอาจต้องเพิ่มบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ ใช้ทักษะการสังเกต จดบันทึก ทดลองและสรุปผล เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับเด็กแต่ละคน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลดีก็ตกอยู่กับครูและเด็กนี่เอง ครูจะเหนื่อยน้อยลงในระยะยาว ส่วนเด็กๆ ก็มีความสุข และเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น

เรียบเรียงจาก Live "ถาม-ตอบ จิตวิทยาการศึกษารู้จักและเข้าใจลูกศิษย์" กับ ดร.จรินทร วินทะไชย์ ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมย้อนหลังได้ที่ http://bit.ly/3aEvyUO


TAG: #จิตวิทยาการศึกษา #จิตวิทยาแนะแนว #แก้ไขปัญหาพฤติกรรมเด็ก