Knowledge

5 วิธีชวนครู "หาทำ" รับปิดเทอม เพื่อเรียกพลังกายและพลังใจกลับมาก่อนเปิดเทอม

5 วิธีชวนครู "หาทำ" รับปิดเทอม เพื่อเรียกพลังกายและพลังใจกลับมาก่อนเปิดเทอม

 2 years ago 3516

สุรศักดิ์ แซ่ลิ้ม

        ช่วงซัมเมอร์แบบนี้เป็นช่วงที่คุณครูบางท่านพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเพื่อต้อนรับภาคการศึกษาใหม่ หลังจากตรากตรำกับ 4 ภาคเรียนออนไลน์จนร่างกายและจิตใจทรุดโทรม วันนี้ EDUCA จึงนำ 5 วิธี “หาทำ” มานำเสนอให้ครูผู้อ่านลงไปปรับใช้เพื่อให้ปิดเทอมนี้มีความหมายมากขึ้นกัน

วิธีที่ 1 – เตรียมการสอนอย่าง สบายใจ
        การสอนสำหรับครูบางคนนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือด หยุดไปเพียงอาทิตย์สองอาทิตย์ก็อาจจะเริ่มรู้สึกเหงา ไม่มีอะไรทำ หากนั่ง ๆ นอน ๆ ในบ้านก็อาจจะเบื่อเสียเปล่า ๆ การหยิบแผนการสอนมานั่งอ่านนั่งเขียนเรียบเรียงใหม่ การสร้างสื่อการเรียนรู้ใหม่ การหาวิธีการสอนใหม่ ๆ เพื่อเตรียมตัวสำหรับเทอมใหม่ก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยเพื่อคลายเหงา แต่ก็อย่าเตรียมการสอนให้หักโหมจนเกินไป เพราะเดี๋ยวบ้านจะกลายเป็นห้องพักครูแทน ครูผู้อ่านอาจใช้เวลาสัก 1 อาทิตย์นั่งทำแผนการสอนริมทะเลเพื่อไม่ให้ตัวเองเครียดจนเกินไปก็เป็นตัวเลือกที่ดีไม่น้อยเลย

วิธีที่ 2 - ให้เวลาผ่านไปช้า ๆ เพื่อเยียวยาจิตใจ
        การทำงานตลอดภาคเรียนของครูคนหนึ่งถือว่าเป็นงานหิน แต่ละวัน แต่ละอาทิตย์มีงานให้ครูทำเยอะมาก เรียกได้ว่าวันเสาร์ – อาทิตย์ของครูบางท่านก็ถือว่าวันทำงานด้วยซ้ำ หรือแม้กระทั่งนักเรียนปิดเทอมแล้วก็ไม่ได้พัก ต้องจัดการเรื่องเกรด งานเอกสารอีกสารพัดทั้งงานในและงานนอก การอยู่เฉย ๆ จึงอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ครูบางท่านต้องการเพื่อให้เวลาเยียวยาร่างกายและจิตใจ การไม่ต้องคิดเรื่องสอนเสียบ้างเพื่อให้สมองได้ฟื้นฟูจากความตึงเครียด ความเหนื่อยล้า และสารพัดอารมณ์เชิงลบที่ตัวเองได้ประสบพบเจอมาตลอดทั้ง 20 สัปดาห์ ครูผู้อ่านจะได้สดชื่นและเริ่มภาคเรียนใหม่ด้วยบรรยากาศและสภาพร่างกายจิตใจที่สมบูรณ์

วิธีที่ 3 – มองอดีต มองปัจจุบัน เพื่อมองอนาคต
        ภาคเรียนหนึ่งมีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ทั้งกับตัวเองและเพื่อนครู ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่ควรนำมาสะท้อนคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการสอนให้ดีมากยิ่งขึ้น หากมองให้กว้างกว่าชีวิตการเป็นครู ครูผู้อ่านก็สามารถนำเหตุการณ์รอบตัวในชีวิตที่ผ่านมาเกือบ 4 เดือนมาสะท้อนคิดสักพักว่าชีวิตในช่วงเวลาดังกล่าวได้ผ่านอะไรมาบ้าง มีช่วงเวลาใดที่น่าจดจำ มีสิ่งใดที่ตนตั้งเป้าว่าจะทำแล้วยังไม่ได้ทำ หรือมีสิ่งใดที่ตนอยากจะปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นคนที่ดีขึ้น ครูผู้อ่านก็สามารถใช้เวลาปิดเทอมนี้นั่งทบทวนชีวิตตัวเองที่ผ่านมาได้เช่นกัน

วิธีที่ 4 – เปลี่ยนตนเป็นนักเรียน เพราะครูคือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต
        หน้าที่หลักของครูอีกหน้าที่หนึ่งคือการได้เป็นผู้เรียน ครูเรียนสิ่งต่าง ๆ มากมายจากนักเรียนและการทำงาน ช่วงเวลาปิดเทอมครูก็สามารถเป็นผู้เรียนได้ด้วยการลงเรียนสิ่งที่ตนสนใจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและขยายองค์ความรู้ของตัวเองให้กว้างมากขึ้น ประกอบกับในยุคที่แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์กำลังเติบโต ครูสามารถเข้าถึงคอร์สต่าง ๆ ได้สะดวกกว่าแต่ก่อนมาก ไม่แน่ว่าครูผู้อ่านอาจจะได้ทั้งเนื้อหา และวิธีการสอนของครูในคอร์สที่ตัวเองลงเรียนด้วยก็ได้ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

วิธีที่ 5 - เป็นครูด้วยใจ ไปงานอาสา พัฒนาชีวิตนักเรียน
        กิจกรรมอาสาสมัครเป็นกิจกรรมที่ทุกคนใฝ่ฝันหาในช่วงการแพร่ระบาดแบบนี้ การแยกมาใช้ชีวิตเพียงคนเดียวเป็นเวลาเกือบ 2 ปีเป็นเรื่องที่น่าเศร้าและน่าหดหู่ใจมาก กิจกรรมนี้เป็นตัวกลางที่ช่วยให้ครูได้เชื่อมต่อกับนักเรียนและผู้คน ครูอาจได้เจอกับนักพัฒนาการศึกษาที่อยู่ในที่ห่างไกล เจอกับนักเรียนผู้ต้องการความช่วยเหลือด้านการศึกษา เจอกับสถานที่ที่ต้องการการดูแลฟื้นฟู กิจกรรมอาสาสมัครจึงเป็นเหมือนกิจกรรมที่จุดไฟความเป็นครูให้กับตัวเอง จุดไฟความเป็นนักพัฒนาให้กับผู้ดูแลกิจกรรม และจุดไฟแห่งความหวังให้กับนักเรียนผู้รอคอยโอกาสเหล่านั้น การใช้เวลาเพียง 2 – 3 วันทำกิจกรรมอาสาสมัครให้กับนักเรียนอาจเป็นความทรงจำเล็ก ๆ ที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

        ช่วงเวลาปิดเทอมนี้เป็นช่วงเวลาพักผ่อนกายใจหลังจากภาระงานหนักทั้งภาคเรียนก็จริง แต่การเรียนการสอนที่ผ่านมาไม่ใช่รูปแบบปกติ เพราะเราสอนอยู่แต่กับหน้าจอทุกวันเป็นเวลานานนับปี การได้ใช้ช่วงเวลาปิดเทอมนี้พัฒนาตัวเอง ได้พบปะผู้คนมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมที่ตัวเองอยากทำ หรือได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ก็ทำให้ชีวิตสดชื่นไม่น้อย หวังว่ากิจกรรมต่าง ๆ ที่นำเสนอในวันนี้จะทำให้คุณครูผู้อ่านกลายเป็นครูคนใหม่ต้อนรับภาคเรียนใหม่ที่กำลังมาถึงในวันข้างหน้าด้วยจิตใจแจ่มใสเปี่ยมไปด้วยพลังบวก เพื่อส่งต่อพลังบวกเหล่านี้ให้กับนักเรียนต่อไป

รายการอ้างอิง
Success By Design, Inc. (2019, July 17). Summer for teachers – how to get the most out of your break. https://www.successbydesign.com/blogs/news/summer-for-teachers-how-to-get-the-most-out-of-your-break

Tingley, S. C. (n.d.). How teachers can make the most of summer break. Hey Teach!. https://www.wgu.edu/heyteach/article/make-the-most-of-summer-break-relax-reflect-and-retool-for-the-new-year1705.html

True Education Partnerships. (n.d.). How teachers can make the most of the school break. https://www.trueeducationpartnerships.com/schools/how-teachers-can-make-the-most-of-school-break/


TAG: #ฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ #งานอาสา #อาสาสมัคร #จิตอาสา #ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต #สะท้อนคิด #จิตวิทยาแนะแนว #จิตวิทยาเรียนรู้