Knowledge
ปรับมาตรฐานวิชาชีพครูใหม่ เตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอนาคต
3 years ago 3823แปล: พิศวัสน์ สุวรรณมรรคา
เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
เป้าหมายของการศึกษาในทุกวันนี้อยากจะเห็นนักเรียนมีสมรรถนะใหม่ๆ ที่พร้อมสำหรับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ การพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนที่เรามองว่าเป็นเป้าหมายจึงย้อนกลับมาสู่การพัฒนาสมรรถนะของครูที่จะตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ซึ่งสมรรถนะของครูเหล่านี้ก็คือมาตรฐานวิชาชีพ กรอบการเรียนรู้และการเติบโตอย่างมืออาชีพ ในบางประเทศอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และเอสโตเนียยังถือเป็นเครื่องมือในการประกันคุณค่าและการรับรองอีกด้วย
ครูฮ่องกงกับหน้าที่ฝึกฝนผู้เรียน…ผู้นำในอนาคต
ในปี 2019 ฮ่องกงเปิดตัวมาตรฐานวิชาชีพใหม่สำหรับครู โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้อำนาจครูฝึกฝนผู้เรียนที่จะกลายเป็นผู้นำในอนาคต มาตรฐานวิชาชีพนี้คาดหวังว่าครูจะต้องเป็น
• ผู้อบรมสั่งสอนที่ใส่ใจกับการเติบโตอย่างรอบด้าน
ครูอบรมสั่งสอนนักเรียนแบบองค์รวมผ่านการเสริมสร้างคุณลักษณะ ทำตนเป็นแบบอย่าง และขยายขีดความสามารถของนักเรียนในการจัดการตนเอง การกำกับตนเองและการเรียนรู้ตลอดชีวิต
• ผู้ร่วมสร้างความรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจ
ครูเชื่อมต่อนักเรียนสู่การเรียนรู้เชิงลึกด้วยการสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาสร้างความรู้แบบรายบุคคลและแบบร่วมมือรวมพลัง
• แบบอย่างที่มุ่งมั่นของความเป็นมืออาชีพ
มีการติดตามการพัฒนาทางวิชาชีพด้วยตนเอง และผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการร่วมมือรวมพลัง รวมถึง เป็นตัวอย่างของการแสวงหาความเสมอภาค ความเป็นเลิศ และความสามัคคี
ให้อำนาจกับผู้เรียน บทบาทสำคัญของครูเอสโตเนีย
มีการปรับปรุงมาตรฐานวิชาชีพครูไปเมื่อปี 2019 เช่นเดียวกัน บทบาทสำคัญของครูคือ การให้อำนาจกับผู้เรียน และสร้างเส้นทางการเรียนรู้เพื่อตระหนักถึงศักยภาพของผู้เรียน มาตรฐานเหล่านี้ประกอบไปด้วย
• การสนับสนุนผู้เรียน
• การวางแผนการจัดการเรียนรู้
• การสอน
• การสะท้อนคิดและการพัฒนาทางวิชาชีพ
• การร่วมมือรวมพลังและการนิเทศกำกับดูแล
• กิจกรรมการพัฒนา สร้างสรรค์และการวิจัย
สมรรถนะแต่ละอย่างเน้นที่บทบาทของครูในการทำความเข้าใจความต้องการและความสนใจของผู้เรียน สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่สะท้อนถึงความต้องการและความสนใจเหล่านี้ ส่งเสริมให้นักเรียนมีความเป็นอยู่ รวมถึงมีพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ที่ดี นอกเหนือจากการให้ความสำคัญกับผู้เรียนแล้ว ครูยังถูกคาดหวังให้สะท้อนการปฏิบัติ มุ่งเน้นที่การเรียนรู้ และปรับปรุงงานของตนเองและงานของโรงเรียนอีกด้วย
ครูสิงคโปร์ไม่ใช่แค่ครูผู้สอน
สิงคโปร์มองว่าการเตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับอนาคต ครูจำเป็นต้องแสดงสมรรถนะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ครูต้องการสำหรับนักเรียน สถาบันการศึกษาแห่งชาติ (NIE) ซึ่งเป็นสถาบันเตรียมและพัฒนาครูของประเทศได้สะท้อนมุมมองถึงวิธีกำหนดเป้าหมายใหม่สำหรับครูด้วยการเตรียมบัณฑิตให้เป็น
• ผู้สร้างความรู้ ไม่ใช่แค่ผู้บริโภค
• ผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ผู้ถ่ายทอด
• ผู้ออกแบบสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ผู้ดำเนินการ
• ผู้หล่อหลอมคุณลักษณะ ไม่ใช่แค่ผู้มีส่วนร่วม
• ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ไม่ใช่แค่ผู้ตาม
การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ทั่วโลก แง่หนึ่งก็ทำให้เราเห็นภาพความพร้อมของแต่ละประเทศในการเตรียมรับมือกับอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งฮ่องกง เอสโตเนีย และสิงคโปร์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวทางที่ประเทศเหล่านี้เลือกช่วยให้ครูปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นได้ แม้ว่าบริบทการศึกษาของแต่ละประเทศจะไม่มีประเทศไหนที่เหมือนกันเลย แต่การเรียนรู้จากประเทศอื่นให้มากจะช่วยให้เราเห็นโอกาส และความเป็นไปได้ต่างๆ มากมายในการแก้ไขปัญหาในบ้านเราเอง
อ้างอิง
NCEE1. (2020, December 03). Teachers of the Future: Meeting the Needs of 21st Century Learners. Retrieved February 02, 2021, from https://ncee.org/2020/12/teachers-of-the-future-meeting-the-needs-of-21st-century-learners/