Knowledge

ช่วยนักเรียนบรรลุเป้าหมายผ่านวิธี Coaching

ช่วยนักเรียนบรรลุเป้าหมายผ่านวิธี Coaching

 3 years ago 4432

เรียบเรียง: อาทิตยา ไสยพร

          เมื่อชีวิตในการเป็นนักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย ชีวิตในการเริ่มต้นใหม่ทุกการตัดสินใจเต็มไปด้วยความท้าทาย การขาดประสบการณ์อาจทำให้การตัดสินใจเกิดอุปสรรคขึ้น ในฐานะคุณครูเมื่ออยู่ใกล้ชิดนักเรียนจำเป็นอย่างมากที่เราจะต้องช่วยเหลือนักเรียนให้มีความมั่นใจในทุกสิ่ง ในทุกเป้าหมายกับวิธีที่เรียกว่า Coaching
          การโค้ช (Coaching) คืออะไร การโค้ช คือกระบวนการที่เปรียบเสมือนกับเพื่อนคู่คิด เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาผู้รับการโค้ช (Coachee) ให้มีศักยภาพสูงขึ้น ผู้รับการโค้ชนั้นจะเป็นผู้ค้นหาคำตอบ และตัดสินใจด้วยตนเอง ตามศักยภาพของตน ทักษะการโค้ชที่คุณครูสามารถนำมาปรับใช้กับนักเรียนของตนได้ มีดังนี้

1. ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูและนักเรียน มีเทคนิคและโมเดล เช่น
VAKAD model คือโมเดลวิธีการเรียนรู้ของคนเราที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน
V = Visual เรียนรู้ทางการสัมผัสหรือการมองเห็น
A = Auditory เรียนรู้จากการฟัง
K = Kinesthetic เรียนรู้ด้วยความรู้สึกหรือบรรยากาศ
Ad = Audio Digital เรียนรู้ด้วยการคิดวิเคราะห์
เมื่อคุณครูเข้าใจถึงการเรียนรู้ของนักเรียนก็จะช่วยพัฒนานักเรียนของเราไปถึงเป้าหมายได้มากขึ้น

Matching & Mirroring model การพยายามหาบางสิ่งที่คล้ายกันหรือใกล้เคียงความชอบของผู้รับการโค้ชมาพูดคุย เมื่อคุณครูนำหลักการนี้มาปรับใช้จะทำให้สานสัมพันธ์กับนักเรียนได้ง่ายขึ้น

Lotus model การนำหลักพรหมวิหารธรรมมาใช้ โดยการแบ่งนักเรียนเปรียบเสมือนบัวสี่เหล่า
แบบที่ 1 คือบัวในตม เปรียบเสมือนนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมที่จะรับการโค้ช ยังขาดความเชื่อมั่นในตัวครู
แบบที่ 2 คือบัวใต้น้ำ เปรียบเสมือนนักเรียนที่เชื่อมั่นในตัวครู และพร้อมทดลองแนวทางที่ครูชี้แนะในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
แบบที่ 3 คือบัวปริ่มน้ำ นักเรียนสามารถวิเคราะห์และหาแนวทางของตัวเองได้ แต่ยังไม่เชื่อมั่นในตัวครูมากนักหรือยังมีอุปสรรคที่ยังไม่สามารถก้าวผ่านได้
แบบที่ 4 คือบัวพ้นน้ำ เป็นบัวที่คุณครูสามารถชี้แนะได้มากที่สุด เนื่องจากนักเรียนมีความเชื่อมั่นและเปิดใจ
การเปรียบนักเรียนแยกออกเป็นบัว 4 เหล่า เพื่อให้ง่ายต่อการหาวิธีการในการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
          ทักษะนี้จะช่วยลดช่องว่างระหว่างคุณครูและนักเรียน ทำให้เกิดความสบายใจในการพูดคุย พร้อมที่จะเปิดใจทำให้บรรลุเป้าหมายในการพูดคุยมากขึ้น ช่วยประสานความสัมพันธ์ในการพูดคุย พร้อมร่วมกันหาแนวทางแก้ปัญหาได้มากขึ้น

2. ทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อคุณครูใช้วิธีการโค้ช ทักษะการฟังจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะเราต้องฟังให้เข้าถึงความคิดและความรู้สึกของนักเรียน เพื่อประโยชน์ในการจับประเด็นในการตั้งคำถามสะท้อนกลับไปให้นักเรียนได้นำกลับไปคิดและหาคำตอบด้วยตนเอง หากเราฟังแต่ไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งและเพียงพอ เราจะไม่สามารถเข้าใจและช่วยนักเรียนได้อย่างที่นักเรียนต้องการ

3. ทักษะการถาม คุณครูใช้คำถามที่ได้มาจากการฟังนั้นย้อนถามไปยังตัวนักเรียนเพื่อเป็นการกระตุ้นความคิด ไตร่ตรอง และค้นหาคำตอบของตัวเอง คำถามที่คุณครูจะใช้ถามนักเรียนกลับนั้นควรเป็นคำถามปลายเปิดและถามไปเรื่อย ๆ จนกว่านักเรียนจะได้ข้อสรุปออกมาด้วยตนเอง

4. ทักษะการให้ข้อมูลย้อนกลับ คือการที่คุณครูสามารถชี้แนะข้อดี ข้อเสีย ข้อควรปรับปรุงให้นักเรียนนำไปพัฒนาต่อยอดได้ พร้อมทั้งคำแนะนำในการปรับใช้ให้เหมาะกับตนเอง นอกจากนี้วิธีโค้ชยังสามารถใช้ทักษะอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมตามความถนัดของคุณครูได้อีกด้วย เช่น การเล่าเรื่องประสบการณ์ของตัวคุณครูเอง
การโค้ชนอกจากจะช่วยในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเพื่อบรรลุเป้าหมาย ข้อดีของวิธีนั้นคือการลดช่องว่างระหว่างคุณครูและนักเรียน เพื่อรับฟังและพูดคุยกันมากขึ้น ยิ่งรับฟังมากเท่าไร เราจะเข้าใจตัวตนของเขามากขึ้นและจะช่วยสนับสนุนนักเรียนของเราได้อย่างตรงจุด

อ้างอิง
ศศิมา สุขสว่าง. (2564). ทักษะการโค้ช (Coaching Skill) สำหรับผู้บริหารเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ใต้บังคับบัญชา. 19 กุมภาพันธ์ 2564, จาก http://bit.ly/3cl26py

รวิศ หาญอุตสาหะ. (2562). วิธี Coaching ที่ทำให้คนพัฒนา และทำงานได้เต็มขีดความสามารถ. 19 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://thestandard.co/podcast/superproductive05/

COACHING คืออะไร เข้าใจใน 3 นาที. (2559). COACHING คืออะไร เข้าใจใน 3 นาที. 19 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://coachnapoleonhill.com/blog/coaching/coaching/

รู้ถึงวิธีการเรียนรู้ด้วย VAKAd. (2552). รู้ถึงวิธีการเรียนรู้ด้วยVAKAd. 22 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=weeratop&month=03-2009&date=27&group=1&gblog=11&fbclid=IwAR1fD9_0RA0OP-e-5pkjots2CWHW89f8yBUVdgo0FYx6Hv-EGUCkoItoRQc

Lynda Tikkavee. (2563). People Like the People Like Them! ใครๆ ก็ชอบคนที่เหมือนกับเค้า. 22 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://lyndatikkavee.weebly.com/article.html

โชติ. (2559). Lotus Model: พรหมวิหารธรรมการโค้ช. 23 กุมภาพันธ์ 2564, จาก https://chotiwutti.wordpress.com/2016/11/06/lotus-model/


TAG: #Coaching #การโค้ช #ทักษะการโค้ช #ทักษะศตวรรษที่21 #ห้องเรียนในศตวรรษที่ 21