Knowledge

พลังของสมาร์ทโฟนในยุค COVID-19 กับเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ของคนทั่วโลก

พลังของสมาร์ทโฟนในยุค COVID-19 กับเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ของคนทั่วโลก

 4 years ago 5220

เรียบเรียง: ภรณี ลัคนาภิเศรษฐ์
แปล: ธนิสรา สุทธานันต์
ภาพ: กชกร มั่นคงเจริญกิจ

          ในยุคที่สมาร์ทโฟนเป็นกลายเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ใครๆ ก็มีไว้ในครอบครอง เพราะหาซื้อได้ง่าย ราคาก็มีให้เลือกหลากหลาย ตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลายหมื่น จึงไม่แปลกที่เราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับสมาร์ทโฟนมากขึ้น ด้วยฟังก์ชั่นการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของเราได้แทบทุกอย่าง โดยเฉพาะในสถานการณ์ไวรัสระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ กำลังทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ที่ง่ายที่สุดของคนทั่วโลก 
          กว่า 60% ของประชากรโลกต่างก็มีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับชาวอเมริกันมากถึง 96% เมื่อใครๆ ต่างก็ใช้สมาร์ทโฟนกันมากขนาดนี้ จะเป็นอย่างไรหากเรามีแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ใช้งานได้ง่ายบนสมาร์ทโฟน เพื่อให้เด็กๆ และคนทั่วโลกยังคงเข้าถึงการเรียนรู้ได้อยู่ในช่วงที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดได้ตามปกติ เพราะถ้ามองตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนจะมีคอมพิวเตอร์เป็นของตัวเอง เพื่อไว้ใช้เรียนออนไลน์ได้
          งานวิจัยพบว่า หากบทเรียนอยู่บนสมาร์ทโฟนจะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมกับบทเรียนมากขึ้น ที่สำคัญเราทุกคนต่างก็ชอบความสะดวกสบายด้วยกันทั้งนั้น ข้อดีของการเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน เช่น

  • การเรียนรู้จะกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เพราะสามารถเรียนเมื่อไร ที่ไหนก็ได้ จึงช่วยลดอัตราการเลิกเรียนกลางคันได้
  • ช่วยพัฒนาความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ และการคิดคำนวณ
  • ราคาของสมาร์ทโฟนถูกกว่าคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊กอยู่หลายเท่า

          ด้วยข้อดีต่างๆ มากมายของสมาร์ทโฟนที่เราใช้กันอยู่ Michael Ioffe ชาวอเมริกันวัย 21 ปี จึงมองเห็นถึงโอกาสที่คนทั่วโลกจะได้เข้าถึงการเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนของตัวเอง เขาก่อตั้ง Arist แพลทฟอร์มการเรียนรู้ผ่านข้อความตัวอักษรเป็นชุดๆ ความยาวไม่เกิน 1,200 อักขระ ควบคู่ไปกับไฟล์ GIF หรือภาพอื่นๆ ที่สามารถส่งผ่านทางสมาร์ทโฟนได้ ข้อความเป็นคำถามพร้อมคำตอบแบบตัวเลือก หรือคำถามที่ต้องการคำตอบสั้นๆ ซึ่งจะมีการประเมินผลโดยอัตโนมัติ ครูที่สนใจสามารถคลิกดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.arist.co/
          แม้ว่าข้อความตัวอักษรแบบนี้จะไม่ค่อยนำมาใช้ในวิชาที่ยังต้องสอนแบบดั้งเดิม เช่น การสอนอ่าน แต่การนำข้อความมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาที่ดูมีความหวังมากที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การใช้ข้อความเพื่อกระตุ้นพฤติกรรมต่างๆ เช่น ทำให้นักเรียนกรอกข้อมูลเอกสารช่วยเหลือทางการเงินให้ครบถ้วน หรือกระตุ้นให้พ่อแม่เล่นเกมการเรียนรู้กับลูกๆ
          เมื่อข้อความตัวอักษรสามารถสร้างให้เกิดการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ครูในสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่งจึงกำลังศึกษาแพลตฟอร์มนี้อยู่ Natasha Akery ครูวิชาภาษาอังกฤษที่ Millitary Magnet Academy บอกว่า นักเรียนของเธอมี 47 คน แต่มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่เข้ามาเรียนใน Google Classroom เป็นประจำ นักเรียนของเธอยังบอกด้วยว่า สนใจอยากลองทำการบ้านสั้นๆ ผ่านข้อความตัวอักษรนี้ด้วยเหมือนกัน

          แม้ว่านี่จะเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้แบบง่ายๆ บนสมาร์ทโฟน แต่ทุกวันนี้เราทุกคนก็ไม่ต่างจากนักเรียนที่เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา สิ่งแวดล้อมแห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน ผู้คนทั่วโลกเสพข้อมูลมากมายผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟน ทั้งดูวิดีโอ อ่านบทความ ฟังพอดแคสต์บนโลกออนไลน์ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่อีกต่อไป

อ้างอิง
Kamenetz, A. (2020, April 22). How Cellphones Can Keep People Learning Around The World. Retrieved April 30, 2020, from https://www.npr.org/2020/04/22/840337498/how-cell-phones-can-keep-people-learning-around-the-world

Laskaris, J. (2018, January 17). The 7 Awesome Benefits of Mobile Learning for Learners. Retrieved May 14, 2020, from https://www.talentlms.com/blog/7-awesome-mlearning-benefits

Flesher, S. (November 7). The Top Benefits and Challenges of Mobile Learning. Retrieved May 14, 2020, from https://www.skillbuilderlms.com/top-benefits-challenges-mobile-learning/

Mehdipour, Y., & Zerehkafi, H. (2013, June). Mobile Learning for Education: Benefits and Challenges. Retrieved May 14, 2020, from http://www.ijceronline.com/papers/Vol3_issue6/part 3/P03630930100.pdf


TAG: #การใช้สื่อและเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ #โควิด19 #COVID19 #โรคระบาดใหญ่