Knowledge

5 ส. สร้างที่ครูควรรู้ และทำได้เลย ในวันแรกของการเปิดเรียน

5 ส. สร้างที่ครูควรรู้ และทำได้เลย ในวันแรกของการเปิดเรียน

 2 years ago 5211

เรียบเรียงโดย จิราพร เณรธรณี

          ทุกอย่างบนโลกนี้ไม่มีความแน่นอน ยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ทั่วโลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน และการศึกษาก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ดังนั้น หากครูจะต้องปรับเปลี่ยนแผนการจัดการเรียนรู้ที่ได้จัดทำ และออกแบบมาอย่างกระทันหัน ครูจะทำอย่างไร สิ่งนี้นับภารกิจหนึ่งที่ท้าทายสำหรับครู แล้วครูควรทำอะไรบ้างเพื่อให้วันแรกของการไปโรงเรียนของนักเรียนเป็นวันที่สวยงาม และสมกับการรอคอย

          EDUCA รวบรวมเรื่องราว 5 สร้าง สิ่งที่ครูควรรู้ และทำได้เลยในวันแรกของการเปิดเรียน ดังนี้
1. สร้างความปลอดภัย ครูควรคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความปลอดภัยของสุขภาพ เพื่อให้นักเรียนมีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า เขาจะไม่ได้รับเชื้อไวรัสจากเพื่อน ๆ และครูผู้สอน โดยมีวิธีการปฏิบัติที่หลากหลาย เช่น การเว้นระยะห่างในการเรียนและทำกิจกรรม จำกัดจำนวนนักเรียนในห้อง มีจุดวัดและตรวจอุณหภูมิ และมีจุดวางแอลกอฮอล์ หรืออ่างล้างมือประจำไว้ในแต่ละที่
2. สร้างความเชื่อมั่น ครูจะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักเรียน และผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความสบายใจในการมาเรียนที่โรงเรียน เช่น ครูประจำชั้นช่วยเขียนรายงานผลการมาเรียนวันแรกของนักเรียนส่งให้ผู้ปกครองได้ทราบ พร้อมทั้งประเมินความรู้สึกในการมาเรียนของนักเรียนด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนมีสิทธิเลือกได้ว่า เขาคิดว่าอยากเรียนรู้ที่บ้าน หรือที่โรงเรียนต่อไป ถือเป็นการรับฟังความรู้สึกของนักเรียนของเราด้วย
3. สร้างความสัมพันธ์ การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการมาเรียนที่โรงเรียนวันแรก เนื่องจากระยะเวลาและสถานการณ์ทำให้นักเรียนแต่ละคน รวมทั้งครูไม่ได้พบเจอกัน ทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินกันมากกว่าเดิม ควรมีกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ เป็นกิจกรรมที่จัดในชั่วโมงแรกในการกลับสู่ห้องเรียน เพื่อปรับสภาพจิตใจของนักเรียนให้อยู่ในสภาวะสมดุล เช่น ครูอาจถามไถ่เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ปิดเทอมว่านักเรียนทำอะไรกันบ้าง มีความรู้สึกอย่างไร มีใครอยากระบายความในใจ ก็สามารถระบายให้ครูและเพื่อนๆฟังได้ โดยครูจะต้องสร้างความเชื่อใจและเป็นกันเองกับนักเรียนทุกคน
4. สร้างความประทับใจแรกพบ หรือ first impression การสร้างความประทับใจแรกพบ ระหว่างครูกับนักเรียนเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมพลังกายและใจให้กับนักเรียน สิ่งสำคัญ คือ รอยยิ้ม เพราะรอยยิ้มเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมิตรและยังสามารถเปลี่ยนโลกสีเทา ๆ ให้กลับมามีสีสันที่สดใสขึ้น เมื่อครูมีใบหน้าที่สดชื่น ยิ้มแย้ม เมื่อนักเรียนได้เห็นก็จะเป็นสุขใจและแจ่มใสไปด้วย แม้ว่าช่วงเวลาก่อนหน้านั้นจะเต็มไปด้วยความกังวล และความกลัวที่ครอบคลุมจิตใจก็ตาม
5. สร้างความสุข ก่อนอื่นครูจะต้องรู้ว่าความสุขของนักเรียนของท่านคืออะไร เขาต้องการอะไร เช่น เขาต้องการพูดคุยกับเพื่อน เพราะไม่ได้เจอหน้ากันนาน ครูก็ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ทำในสิ่งที่เขามีความสุข เพราะคงมีจำนวนนักเรียนไม่กี่คนที่ต้องการอัดเนื้อหาเรียนและการบ้านตั้งแต่วันแรกที่มาเรียน นอกจากนี้ ครูอาจนำขนม หรือของกินเล็ก ๆ น้อย ๆ มาให้นักเรียน ทั้งนี้ ครูควรคำนึงถึงช่วงวัยของนักเรียนที่สอนด้วยเพื่อเลือกกิจกรรมที่จะสร้างความสุขได้อย่างเหมาะสม

          ดังนั้น หลัก 5 ส. สร้างจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้วันแรกของการเปิดเรียนของนักเรียน เป็นวันที่ทำให้เขารู้สึกอยากมาโรงเรียนและมีกำลังใจในการเรียนรู้ต่อไป พร้อมที่จะพัฒนาตนเองได้ทุกเวลา สิ่งสำคัญ ครูจะต้องทำให้นักเรียนรู้ว่า โรงเรียนไม่ใช่สถานที่เรียนรู้ หรือหาความรู้อย่างเดียว แต่โรงเรียนเป็นสถานที่ปลอดภัย สถานที่เล่น สถานที่ปฏิบัติ และเป็นบ้านที่สองที่สร้างความสุข บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยที่หลากหลายมารวมกัน ทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

เพียงเท่านี้......
วันแรกของการมาโรงเรียนของนักเรียน......
ก็จะเป็นวันที่เขามีความสุข.......และพร้อมที่จะเรียนรู้ได้ทุกเวลา :)

แหล่งอ้างอิง
Jeremy Goldman. 6 ways successful people make a great first impression. (2558). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://sumrej.com/6-ways-make-a-great-first-impression/

Urbinner. ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs). (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.urbinner.com/post/maslow-hierarchy-of-needs

William Toledo. The first day of school: how COVID-19 has changed our schools and how we can be public supporters of public education. (2563). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.unr.edu/nevada-today/blogs/2020/the-first-day-of-school-with-covid-19


TAG: #โรคระบาดใหญ่ #การออกแบบจัดการเรียนรู้ #วันเปิดเทอม #โควิด19 #COVID19